วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558



ปีกมดลูก




ปีกมดลูก ... คำๆนี้คงคุ้นๆหูคุณผู้หญิงหลายคนใช่ไม๊ครับ? ... เมื่อไม่นานมานี้หมอมีคนไข้ปวดท้องมาหาหมอที่คลินิกนรีเวชฯครับ ... คนไข้รายนี้มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย (ท้องน้อยคือช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าสะดือลงมา) ...​ อาการปวดเป็นมากๆมา 3 วัน ... หลังจากซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน และตรวจทางห้องปฎิบัติการ ... หมอได้วินิจฉัยว่าคนไข้น่าจะปวดท้องจากปีกมดลูกอักเสบแบบเฉียบพลัน ... ได้ให้การรักษาต่อด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ... วางแผนการรักษาโดยจะดูการตอบสนองภายใน 1-2 วัน ถ้าดีขึ้นจะเปลี่ยนเป็นยารับประทานแต่ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องเปลี่ยนการรักษาต่อไปเช่นอาจต้องตรวจเพิ่มเติมหรือผ่าตัด ... วันนี้ในบล็อกนี้หมอจะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการตรวจรักษาเรื่องปีกมดลูกอักเสบนะครับ

รูปที่ 1: อวัยวะสืบพันธุ์สตรี (สีแดง) อยู่ในช่องท้องส่วนล่าง ประกอบด้วย ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และปีกมดลูก

วันนี้หมอจะคุยเรื่องอื่นแทนเนื่องจากคนไข้รายนี้ทำให้หมอนึกถึงคำว่า "ปีกมดลูก" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมานานทั้งในหมู่แพทย์พยาบาลและประชาชนทั่วไป ... แต่ไม่รู้ว่าเราเข้าใจตรงกันหรือไม่ว่าปีกมดลูกคืออะไร ... หมอเลยนำมาเขียนคุยกันในบล็อกผู้หญิงผู้หญิงวันนี้

รูปที่ 2: ช่องคลอด (Vagina) ปากมดลูก (Cervix) ตัวมดลูก (Uterus) และปีกมดลูก (Fallopian tube & Ovary)

ทางการแพทย์ใช้คำว่า "Adnexa" แทนคำว่าปีกมดลูกครับ ...​ ปีกมดลูกหรือ Adnexa ประกอบด้วย ท่อนำไข่หรือท่อรังไข่ (Fallopian tube) และรังไข่ (Ovary) โดยบางตำราได้รวมเยื่อบุช่องท้อง (Broad ligaments) ที่แผ่คลุมท่อรังไข่และรังไข่ทั้งสองข้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของปีกมดลูกไว้ด้วย ... หากดูจากรูปที่สองซึ่งเป็นภาพขยายของรูปที่หนึ่ง ... ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในสตรีปกติจะมีมดลูกเพียงอันเดียวเท่านั้น (ในสตรีบางรายที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดอาจไม่มีมดลูกหรือมีมดลูกแฝดก็ได้ครับ) และะจะมีปีกมดลูกสองข้างคือข้างซ้ายและข้างขวา ... ปีกมดลูกเริ่มจากท่อรังไข่ซึ่งเป็นอวัยวะที่เป็นท่อกลวงล้อมรอบด้วยผนังซึ่งเป็นกล้ามเนื้อและเยื่อบุภายในและภายนอก ... ท่อนี้จะมีลักษณะนุ่มๆแต่คดเคี้ยวดูแล้วจะคล้ายๆลำใส้ ... ท่อรังไข่ดูเผินๆจะเหมือนแขนของคนที่ยืนกางแขนออกไปจากตัวมดลูกทั้งสองข้าง ท่อแต่ละข้างจะมีความยาวประมาณ 8-10 เซ็นติเมตร ... ปลายท่อรังไข่จะเป็นปลายเปิดกว้างคล้ายปากแตรซึ่งมักจะโอบคลุมบางส่วนของรังไข่เอาไว้เพื่อเป็นทางเข้าของไข่ในวันที่มีไข่สุก ...​ถัดออกไปจากปลายปากแตรของท่อรังไข่ก็จะเป็นรังไข่ ... รังไข่ของผู้หญิงแม้จะมีขนาดเล็กประมาณหัวนิ้วโป้งคือประมาณ 1x2x3 เซ็นติเมตร แต่ภายในรังไข่เล็กๆนี่แหละครับที่จะมีไข่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิตมนุษย์อย่างพวกเราอยู่เป็นหมื่นเป็นแสนใบเลยแหละ ... ไข่แต่ละใบจะเล็กมากจนไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าครับ


ในภาวะปกติของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ... จะมีการตกไข่ (Ovulation) ประมาณเดือนละหนึ่งครั้งๆละหนึ่งใบและจะถูกดูดเข้ามาผ่านทางปากแตรของปลายท่อรังไข่ ... เมื่อมีเพศสัมพันธ์ในวันที่มีการตกไข่หรือที่เรียกว่าไข่สุก ...​ ตัวอสุจิ (Sperm) ซึ่งหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชายเวลามีเพศสัมพันธ์จะว่ายผ่านปากมดลูก (Cervix) เข้าไปในโพรงมดลูกผ่านต่อไปตามท่อรังไข่และไปผสมกับไข่ที่บริเวณปลายท่อรังไข่เกิดเป็นตัวอ่อนของมนุษย์ (Embryo) ... ตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 6-7 วันในการเดินทางกลับมายังโพรงมดลูกมดลูกเพื่อฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป ... โดยปกติจะอยู่ในมดลูกอีกประมาณ 9 เดือนแล้วจึงคลอดออกมาเป็นทารกและโตขึ้นเรื่อยๆจนเป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆท่านๆนี่แหละครับ


แม้ปีกมดลูกจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ... แต่ปีกมดลูกก็เหมือนอวัยวะอื่นๆของร่างกายเรานี่แหละครับที่มีโอกาสเกิดโรคได้หลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นเนื้องอกหรือแม้แต่เป็นโรคร้ายๆเช่นมะเร็งเป็นต้น ... ตัวอย่างเช่นในผู้ป่วยที่หมอได้กล่าวยกตัวอย่างมาในเบื้องต้นที่มาหาด้วยอาการปวดท้องและวินิจฉัยว่าเป็นปีกมดลูกอักเสบแบบเฉียบพลัน

รูปที่ 3: ปีกมดลูกขวาอักเสบ มีการบวมของท่อนำไข่และมีพังผืดยึดคลุมอยู่ทั้งที่ท่อนำไข่และรังไข่

วันนี้หมอขอเขียนบล็อกสั้นๆของคำว่าปีกมดลูกไว้แค่นี้นะครับ ... อ่านแล้วคงมีประโยชน์บ้างแต่อาจไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ... ถ้ามีโอกาสหมอจะอธิบายเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป ... ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโชคดีและมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจนะครับ


รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่





วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน (Post-menopausal bleeding)


ตำแหน่งของมดลูกที่ช่องท้องส่วนล่าง (สีแดง)
วันนี้หมอถูกถามเรื่องเลือดออกหลังวัยทองหรือวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้วว่าเกิดจากความผิดปกติอะไรได้บ้างและจะดูแลรักษาอย่างไร ...​ ผู้ที่ถามหมอไม่ใช่ตัวคนไข้เองหรอกนะครับแต่เป็นลูกสาวของคนไข้ ... ที่ถามก็เพราะคุณแม่ซึ่งอายุประมาณ 60 ปีและหมดประจำเดือนมาแล้วประมาณ 10 ปี แต่อยู่ดีๆก็มีเลือดออกมาจากช่องคลอดอีก ... หมอเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์กับคุณผู้หญิงทุกๆคนเลยเอามาเขียนเป็นเกล็ดความรู้ไว้ในบล็อกนี้ครับ


ผู้หญิงปกติทั่วๆไปจะมีประจำเดือนมาประมาณเดือนละครั้งไปจนถึงอายุประมาณ 45-55 ปี ... หลังจากนั้นจะเข้าสู่วัยที่ทั่วๆไปเรียกว่า "วัยทอง (menopause)" ซึ่งเป็นวัยที่รังไข่ไม่มีการตกไข่ ... เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีการสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นมดลูก ... ทำให้ไม่มีประจำเดือนออกมาอีกหรือขาดประจำเดือน ... แต่จะเรียกว่าวัยทองก็ต่อเมื่อไม่มีประจำเดือนมาเลยอย่างน้อยก็หนึ่งปีนะครับ ... ถ้ายังมาๆหยุดแต่ยังไม่ขาดเกินหนึ่งปีก็ยังไม่เรียกว่าวัยทองครับ ... เฉลี่ยๆแล้วผู้หญิงไทยจะเข้าสู่ภาวะนี้ที่อายุประมาณ 48 ปี ... หมดช้ากว่านี้ก็เป็นไปได้ครับแต่ไม่ควรเกิน 52 ปีเพราะจะอยู่ในกลุ่มที่หมดช้าและมีความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสูงขึ้น


ผู้หญิงทุกคนที่ขาดประจำเดือนไปเกินหนึ่งปีแล้วเกิดมีเลือดออกมาอีกมักจะไม่สบายใจเพราะกลัวเป็นมะเร็งมดลูกน่ะครับ ... อย่างเช่นรายที่หมอเล่าให้ฟังว่าลูกสาวถามให้คุณแม่นี่แหละครับ ... หมอขอตอบแบบคร่าวๆเป็นตัวเลขกลมๆจำง่ายๆดีกว่านะครับว่าสาเหตุของเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองนี่เกิดจากอะไรได้บ้าง ... ขอบอกเป็นเปอร์เซนต์แบบง่ายๆนะครับ

สาเหตุบางอย่างที่ทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกหลังวัยทอง


ประมาณ 60% เกิดจาก เยื่อบุโพรงมดลูกบางหรือฝ่อ (Atrophy) ที่บางหรือฝ่อก็เพราะไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้นน่ะครับ ภาวะนี้ไม่น่ากลัวเพราะไม่มีอันตราย


ประมาณ 10% เกิดจาก ติ่งเนื้องอกในโพรงมดลูกที่เรียกว่า "โพลิป (Polyp)" ภาวะนี้ก็ไม่อันตรายเช่นกันเพราะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง






ประมาณ 10% เกิดจาก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) ... อันนี้แหละครับที่น่ากลัวเพราะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ ...
ความอ้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ปัจจุบันพบมะเร็งชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามการพัฒนาของประเทศ ... พูดได้เลยว่าประเทศที่ยิ่งพัฒนาเท่าไหร่ก็ยิ่งพบมะเร็งชนิดนี้เพิ่มขึ้นได้เท่านั้น ... ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบบ่อยกว่ามะเร็งปากมดลูกเสียอีก ... ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิธีการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินและความเครียดที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกันกับการพัฒนาของประเทศครับ ... ประมาณ 70% ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ความอ้วน (Obesity) ครับ ... อ่านแล้วไม่ต้องกลัวเกินไปนะครับเพราะแม้จะพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้บ่อยขึ้นแต่การรักษาในปัจจุบันมักได้ผลดีมากๆและมีโอกาสหายขาดได้สูงถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะต้นๆน่ะครับ ...​ แต่ในเบื้องต้นเอาแค่อย่าให้อ้วนก็ลดความเสี่ยงลงไปได้มากแล้วครับ


ประมาณ 10% เกิดจาก เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Hyperplasia) ... ภาวะนี้แม้ไม่ใช่มะเร็งแต่นำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ ... ถ้ารู้ก่อนก็รักษาได้ก่อนครับไม่ควรรอให้กลายเป็นมะเร็ง


อีกประมาณ 10% ที่เหลือก็เกิดจากภาวะอื่นๆอีกหลายอย่างรวมๆกันครับเช่น ... เกิดจากการใช้ฮอร์โมนที่ได้จากภายนอกไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่มีใช้ทางการแพทย์หรือจากสมุนไพรที่มีขายกันเกลื่อนไปหมดในปัจจุบัน ... เกิดจากเนื้องอกมดลูก (Fibroid, Adenomyoma) ... หรือเกิดจากอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่จากโพรงมดลูกโดยตรงเช่น จากปากมดลูก จากช่องคลอด จากทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่จากทวารหนัก


สาเหตุของเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจค้นทางการแพทย์ครับ ... การตรวจค้นทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดคือ "การสุ่มตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Sampling)" หรือที่เรียกกันแบบภาษาชาวบ้านว่า "การขูดมดลูก (Uterine Curettage)" ... การขูดมดลูกเอาเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจจะทำให้วินิจฉัยภาวะผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและวินิจฉัยได้ถูกต้องตรงประเด็นไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติจาก เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ ติ่งเนื้องอกโพลิป มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนา หรือแม้แต่สาเหตุจากฮอร์โมนจากภายนอก ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องมะเร็งจะสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ... ทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายขาดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดซึ่งทำได้ง่ายและปลอดภัยกว่าในอดีตมาก

รูปแสดงการขูดมดลูก


หมอขอยืนยันครับว่าการขูดมดลูกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายๆท่านคิด ... การขูดในปัจจุบันทำได้ง่ายปลอดภัยและไม่เจ็บ ทำได้ทั้งแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ... หมอได้เขียนเรื่องการขูดมดลูกเอาไว้ในบล็อกตอนต้นๆแล้ว ... ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดสนใจก็ลองไปอ่านดูก็ได้นะครับ



ก่อนจะจบเรื่องเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนหรือหลังวัยทอง ... หมอรู้สึกว่าน่าจะเขียนเรื่องวัยทองมาให้อ่านกันสักครั้งก็ดีนะครับว่าทำไมต้องเรียกวัยนี้ว่าวัยทองด้วย ... จริงๆแล้วคำว่าวัยทองมีความหมายที่ดีมากๆไม่ใช่มาใช้เรียกแซวกันเล่นๆ ... ไว้รออ่านกันนะครับ


ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโชคดีและมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่










วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558



กระบังลมหย่อน (Genital relaxation) และ การทำรีแพร์ (Repair)



สวัสดีครับคุณผู้หญิงที่ติดตามอ่านบล็อกของหมอวิรัชทุกท่าน  ...​ หมอไม่ได้เขียนบล็อกมาหลายวันเพราะมีทั้งงานราษฎร์และงานหลวงมาประดังกันหลายอย่าง ... วันนี้มีเวลาเลยนึกถึงเรื่องเรื่องหนึ่งที่อยากเขียนเพราะมีคนไข้ที่มาปรึกษาอยู่เป็นระยะๆ ... เรื่องนั้นคือเรื่อง กระบังลมหย่อน (Genital relaxation) และ การทำรีแพร์ (Repair) 


ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ชอบพูดกันเล่นๆว่าพออายุมากขึ้น ... ร่างกายของเรามักไม่ค่อยมีอะไรเป็นไปตามใจเราเลย ... บางส่วนที่อยากให้หย่อนก็ตึง ตัวอย่างเช่นหู ... บางส่วนที่เราอยากให้ตึงก็หย่อน ตัวอย่างเช่นเต้านมของคุณผู้หญิง

อวัยวะส่วนที่อยากให้ตึงแต่หย่อนก็ไม่ได้มีแต่เต้านมนะครับ ...​ กระบังลมของคุณผู้หญิงทั้งหลายก็เป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีโอกาสหย่อนได้เช่นกัน ...​ คงไม่มีคุณผู้หญิงคนใดอยากให้กระบังลมของคุณหย่อนใช่ไม๊ครับ

กระบังลมหย่อนหมายความว่าอะไรล่ะครับ ... หากท่านลองหลับตานึกภาพผู้หญิงในท่ายืนตรง ...​ ท่านคงจะพอนึกภาพออกนะครับว่ามีอวัยวะหลายอย่างในช่องท้องของท่านที่สามารถไล่เรียงลงมาเรื่อยๆจากบนสุดลงมาล่างสุด ... อวัยวะในช่องท้องส่วนบนๆได้แก่ กระเพาะอาหาร ตับ ลำใส้ เรื่อยๆลงมา ... อวัยวะในช่องท้องส่วนล่างซึ่งรวมถึงในช่องเชิงกรานด้วยได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด และทวารหนัก ... ท่านเคยสงสัยไม๊ครับว่าอวัยวะในช่องท้องเหล่านี้ลอยอยู่ได้ยังไงโดยไม่หลุดหล่นจากช่องท้องออกมากองอยู่ระหว่างขาของท่านแม้ท่านจะออกแรงเบ่งในช่องท้องอย่างแรง เช่น เวลาไอจาม เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ เวลาออกกำลังกายแบบหนักๆ

คิดๆแล้วอวัยวะเหล่านี้ก็ควรจะหลุดหล่นลงมาน่ะครับเพราะที่ส่วนล่างของช่องท้องไม่ได้มีกระดูกรองรับทางออกไว้เลย ... การที่อวัยวะต่างๆไม่หล่นหรือไหลออกมากองอยู่ระหว่างขาของท่านก็เพราะว่ามีกระบังลมนี่แหละครับที่รองรับไว้โดยกระบังลมก็คือส่วนของกล้ามเน้ือและพังผืดหุ้มกล้ามเนื้อที่ขึงตึงระหว่างด้านหน้าตั้งแต่กระดูกหัวหน่าวไปยังด้านข้างและด้านหลังของกระดูกเชิงกรานและกระดูกก้นกบ ... กระบังลมนี้ถ้าดูเผินๆก็คล้ายๆเปลญวนที่ขึงจากด้านหน้าไปด้านหลังของส่วนล่างสุดของช่องท้องน่ะครับ

ในภาวะปกติธรรมชาติจะสร้างให้กล้ามเนื้อกระบังลมตึงและแข็งแรงมากเพียงพอที่จะรองรับอวัยวะต่างๆในช่องท้อง เช่น มดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือทวารหนัก ไม่ให้หย่อนหรือโผล่ออกมาได้ ครับ ... จะมีก็เพียงแค่ช่องบางช่องเท่านั้นที่ผ่านออกมาเพื่อทำหน้าที่ตามธรรมชาติเช่น ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และทวารหนัก เป็นต้น

Bladder (กระเพาะปัสสาวะ), Uterus (มดลูก), Rectum (ทวารหนัก) 


กระบังลมที่เคยตึงและแข็งแรงอาจหย่อนลงมาได้หลายระดับ ... มีตั้งแต่หย่อนเพียงเล็กน้อยและไม่มีอาการอะไรผิดปกติมากนักไปจนถึงหย่อนมากจนไม่สามารถรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่น มดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือทวารหนักเอาไว้ได้ ... กรณีที่หย่อนมากๆจะมีผลให้ มดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือทวารหนักโผล่พ้นออกมาอยู่ที่ปากช่องคลอดหรือแม้แต่โผล่ออกมาอยู่ระหว่างขาของผู้ป่วยได้ ... การหย่อนดังกล่าวมีผลต่อการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระเป็นอย่างยิ่ง ... บางรายอาจควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ไอจามมีปัสสาวะเล็ด ไปห้องนำ้ไม่ทัน ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก มีก้อนโผล่ออกมาเสียดสีระหว่างขา บางครั้งเป็นมากและนานจนไม่สามารถใส่ก้อนที่โผล่ออกมากลับเข้าไปในช่องคลอดได้และอาจมีแผลกดทับซึ่งนำไปสู้ปัญหาอีกหลายๆอย่าง ... ลองนึกดูสิครับว่าถ้าภาวะดังกล่าวเกิดกับท่านท่านจะรู้สึกอย่างไร


กระบังลมหย่อน (กระเพาะปัสสาวะ มดลูก และทวารหนัก)

สาเหตุทั้งที่เป็นสาเหตุโดยตรงและที่เป็นสาเหตุเสริมหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการหย่อนของกระบังลมมีหลายอย่างครับได้แก่ การคลอดบุตร ความเสื่อมจากอายุมากและการขาดฮอร์โมน การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง และความพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด

การคลอดบุตร ... สาเหตุใหญ่ที่สุดของกระบังลมหย่อนได้แก่การคลอดบุตรหรือการคลอดลูกทางช่องคลอด ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลอดที่ยากต้องใช้เวลานานหรือใช้แรงเบ่งอย่างมาก ... การคลอดหลายๆครั้งหรือมีลูกหลายคน ... หรือการคลอดที่ได้รับการช่วยคลอดหรือเย็บซ่อมแซมช่องทางคลอดไม่ถูกต้อง ... ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดกระบังลมหย่อน ... โชคดีที่ในปัจจุบันมีการผ่าท้องคลอดมากขึ้นและไม่ค่อยมีครอบครัวไหนที่มีลูกมากๆหรือหลายๆคนเหมือนในสมัยก่อน ทำให้พบภาวะกระบังลมหย่อนน้อยลงหรือรุนแรงน้อยกว่าในอดีต ...  แต่ที่อธิบายอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสนับสนุนการผ่าท้องคลอดมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดตามธรรมชาตินะครับ

ความเสื่อมจากอายุมากและการขาดฮอร์โมน ...​ ความเสื่อมที่มากับอายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะหลังวัยหมดระดูหรือที่เรียกว่าวัยทองก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบังลมที่หย่อนอยู่แล้วหย่อนมากยิ่งขึ้นและมีอาการทุกข์ทรมานชัดเจน ... การลดลงหรือการขาดฮอร์โมนเพศในวัยทองนับว่ามีผลต่อความแข็งแรงหรือการตึงหย่อนของกระบังลม เพราะฮอร์โมนจากรังไข่ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "เอสโตรเจน (Estrogen)" มีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อและพังผืดตึงกระชับ ... เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงหรือขาดไปในวัยทองจึงมีส่วนทำให้เกิดการหย่อนของกระบังลมมากยิ่งขึ้น

การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ... การเพิ่มแรงดันหรือการออกแรงเบ่งในช่องท้องมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่นการทำงานที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ ... โรคหอบหืดไอจาม ... หรือท้องผูกเรื้อรัง ...​ ภาวะที่กล่าวมาทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันในช่องท้องสูงทำให้เกิดภาวะกระบังลมหย่อนได้

ความพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด ... ภาวะนี้พบได้น้อยแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจเสริมให้กระบังลมหย่อนได้ครับ

จากข้อความทั้งหมดที่เขียนมาคงพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่านนึกออกบ้างนะครับว่ากระบังลมหย่อนมีสาเหตุตรงและเสริมหลายๆอย่าง ... ซึ่งการคลอดน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดและรองมาก็คือเรื่องอายุและการขาดฮอร์โมนในวัยทอง

กระบังลมหย่อนเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการอะไรรบกวนชีวิตมากนักหรอกครับ ... หากหย่อนมากอาจทำให้มีอาการได้หลายอย่าง ... อาการในเบื้องต้นได้แก่การรู้สึกถ่วงเหมือนมีอะไรมาจุกหรือจะหลุดออกมาจากช่องคลอด ... เมื่อไปพบสูตินรีแพทย์และได้รับการตรวจภายใน ... แพทย์อาจตรวจพบว่าเริ่มมีการหย่อนของมดลูก ปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนักในระดับต้นๆ ซึ่งถ้าหย่อนไม่มากและอาการไม่จนรบกวนชีวิตประจำวันก็อาจรักษาโดยการสังเกตดูอาการไปก่อนได้

ในผู้ป่วยบางรายจะมาพบแพทย์โดยจะบอกได้เลยว่ามีก้อนมาจุกหรือโผล่ออกมาจากช่องคลอด ... ซึ่งก้อนที่ตรวจพบมักเป็น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ปากมดลูก มดลูก หรืออวัยวะทุกอย่างที่กล่าวมาเลยก็ได้ ... ซึ่งถ้าถึงขนาดตรวจพบได้เองว่ามีก้อนโผล่ออกมาก็คงต้องได้รับการรักษาแล้วละครับ ... บางครั้งก้อนที่โผล่ออกมามีการเสียดสีหรือกดเบียดกันในระหว่างขาทำให้เกิดแผลที่มักมีการติดเชื้อทำให้เจ็บปวดหรือมีกลิ่นเหม็นมาก

บางรายปล่อยไว้นานมากจนมีการเสียไปของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ... เมื่อกระเพาะปัสสาวะหย่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ การทำงานก็จะผิดปกติไปด้วยโดยอาจมีอาการ ไอจามมีปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราดไปห้องนำ้ไม่ทัน ปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะไม่ออก กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆหรือเรื้อรัง ...​ ภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่พบได้เป็นประจำ

บางรายมีการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ ... เมื่อทวารหนักหย่อนลงมามักทำให้มีอาการท้องผูกซึ่งอาการท้องผูกเรื้อรังจะยิ่งไปเสริมกระตุ้นให้การหย่อนของกระบังลมเป็นมากยิ่งขึ้น

อาการทั้งหมดที่กล่าวมาอาจแตกต่างกันไป ... อาการอาจน้อยและไม่รบกวนชีวิตประจำวันหรือมากจนรบกวนต่อคุณภาพชีวิตและสมควรได้รับการดูแลรักษา

การรักษาที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดในเบื้องต้น แต่หากไม่ได้ป้องกันหรือป้องกันแล้วก็ยังเกิดกระบังลมหย่อนและมีอาการก็คงต้องรักษากันแล้วละครับ

การรักษาภาวะกระบังลมหย่อนมีหลายวิธีได้แก่ ... การทำกายภาพบำบัด การผ่าตัด หรือการใส่ห่วงยางไปค้ำไว้ในช่องคลอด

การทำกายภาพบำบัด ... สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยการขมิบก้นซึ่งเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อกระบังลมหรือกล้ามเนื้อหูรูด หากทำถูกต้องหรือทำเป็นประจำจะพบว่าการขมิบก้นเป็นการทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมแข็งแรงและรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือทวารหนักไม่ให้หย่อนลงมาได้ในระดับหนึ่ง รายละเอียดเรื่องนี้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปค้นหาดูเพิ่มเติมได้ในกูเกิ้ลนะครับ

การรักษาด้วยการผ่าตัด ... การผ่าตัดหรือที่มักเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่าการทำรีแพร์ (Repair) น่ะครับ ... รีแพร์ (Repair) เป็นภาษาต่างประเทศที่แปลว่าซ่อมแซมครับ ... การทำรีแพร์เป็นคำที่เข้าใจผิดเพี้ยนกันไปว่าคือ "การทำสาว" ...​​ เรื่องการทำสาวดังกล่าวเป็นเพียงการผ่าตัดเล็กในผู้ที่ไม่ได้มีอาการอะไรมากนัก ... เป็นเพียงการผ่าตัดที่ทำให้ปากช่องคลอดแคบเข้ามาเท่านั้น กรณีดังกล่าวอาจทำเพื่อความงามหรือเรื่องเพศสัมพันธ์แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องกระบังลมหย่อนอะไรมากนัก ... ต่างจากกรณีการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีการหย่อนของกระบังลมมากจนมีอาการเช่น มีก้อนโผล่ออกมา มีแผล หรือมีการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระผิดปกติหรือเสียไปเป็นต้น ... การผ่าตัดรักษาในกรณีหลังนี้ต้องการการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิเศษเพราะการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมภาวะดังกล่าวอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้สูงหากไม่ได้ทำอย่างถูกต้อง ... ภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดได้แก่ การบาดเจ็บต่อระบบปัสสาวะ ระบบอุจจาระ และเกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในช่องท้องเช่นลำใส้หรือท่อไตเป็นต้น ... หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วจะพบว่าการรักษาดังกล่าวได้ผลดีมากและมีภาวะแทรกซ้อนต่ำเพราะปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัดตลอดทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดไปอย่างมาก ... มีทั้งการใช้แผ่นวัสดุสังเคราะห์มายึดโยงโดยไม่ต้องตัดมดลูก หรือแม้ต้องมีการตัดมดลูกและผ่าตัดซ่อมแซมช่องคลอด ... ก็อาจทำได้ทั้งแบบผ่าตัดทางช่องคลอดและผ่าตัดแผลเล็กทางหน้าท้องผ่านกล้องเป็นต้น ... หากท่านผู้อ่านต้องการรายละเอียดเรื่องการผ่าตัดวิธีต่างๆก็ขอให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ต่อไปนะครับ

การรักษาโดยการใส่ห่วงค้ำยัน (Pessary) ... วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีการหย่อนของกระบังลมมากแต่ไม่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพราะมีความเสี่ยงจากการดมยาสลบหรือจากการผ่าตัดสูงเช่น อายุมากเกินไป มีโรคประจำตัวรุนแรงเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่นๆที่เป็นข้อห้ามต่อการดมยาสลบหรือการผ่าตัดใหญ่ ... ในกรณีดังกล่าวการใส่ห่วงซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงหรือแผ่นยางค้ำยันไว้ในช่องคลอดจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องกระบังลมหย่อนเท่านั้นนะครับ ... รายละเอียดยังมีอีกมาก ... เรื่องกระบังลมหย่อนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของผู้หญิงไทยที่มีความเขินอายสูง ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะนี้ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุของเรา ได้แก่ คุณแม่ คุณย่า คุณยาย หรือคุณทวด ซึ่งหลายครั้งผู้เขียนมีความเห็นใจท่านทั้งหลายเหล่านี้มากครับเพราะท่านมักอดทนจนถึงที่สุดโดยไม่บอกให้ลูกหลานได้ทราบเลยว่าท่านมีความทุกข์ทรมานเพียงใดกับการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ...  ที่ท่านไม่บอกก็ไม่ใช่เพียงเพราะท่านเขินอายเท่านั้นนะครับ แต่เป็นเพราะท่านไม่อยากรบกวนลูกหลานให้เดือดร้อนมาดูแลท่าน ... ทั้งๆที่อาการทั้งหมดที่ท่านทุกข์ทรมานอยู่ก็เกิดมาจากการที่ท่านให้กำเนิดลูกหลานของท่านนั่นเอง ... อ่านจบแล้วอย่างน้อยก็กลับบ้านไปถามคุณแม่ คุณยาย คุณย่า หรือคุณทวดของท่านมั่งนะครับว่าท่านมีอะไรให้เรารับใช้บ้างหรือไม่ ... ถามอ้อมๆก็ได้นะครับเพราะเรื่องแบบนี้ท่านผู้อาวุโสของพวกเราท่านหน้าบางกว่าพวกเราผู้น้อยในปัจจุบันเยอะเลยละครับ ... หากท่านมีปัญหาอยู่และเราช่วยท่านได้ก็จะเป็นการตอบแทนพระคุณท่านได้เป็นอย่างดีและได้บุญเยอะเลยละครับ



ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านมาจนถึงบันทัดนี้ ... หากมีคำถามหรือความคิดเห็นอะไรเพิ่มเติม ... ผู้เขียนรบกวนติดต่อมาได้ที่ รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ หรือที่โทรศัพท์หมายเลข 1719 หรือที่ Mobile phone: 089-733-1170 นะครับ ........ สวัสดีและขอให้ทุกท่านโชคดีมีสุขภาพแข็งแรงนะครับ









วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558



สามมิติ (3D) ในการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MIS)


แพทย์ผ่าตัดสวมแว่นเพื่อดูภาพในจอให้เห็นเป็นสามมิติ (3D)

สวัสดีครับคุณผู้หญิงที่รักทุกท่านที่ติดตามอ่านเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงของหมอวิรัช ... หมอไม่ได้เขียนบล็อกซะหลายวันเพราะไปประชุมประจำปีของสมาคมมะเร็งนรีเวชฯที่กาญจนบุรีมาน่ะครับ ... เพิ่งเดินทางกลับมาถึงหาดใหญ่ตอนสองทุ่มเมื่อวานนี้เอง ... พอกลับมาถึงก็เริ่มทำงานเลยโดยแวะไปเยี่ยมคนไข้ที่นัดมาอยู่โรงพยาบาลตอนเย็นวานเพื่อรอผ่าตัดเช้าวันนี้

เช้านี้เข้าทำผ่าตัดคนไข้รายที่เล่ามาน่ะครับ ... เป็นการผ่าตัดใหญ่แต่ผ่าผ่านแผลเล็กหรือที่เรียกว่า MIS (Minimal Invasive Surgery) เช้านี้เป็นการผ่าตัดมดลูกเพราะคนไข้มีมดลูกโตและมีเลือดออกมากจนซีดมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม ... แผลที่ผ่าตัดเป็นแผลเล็กๆซึ่งเป็นการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบัน ... วันนี้หมอผ่าผ่านแผลหรือช่องเล็กๆ 3 ช่อง ... ภาษาผ่าตัดแบบแผลเล็กเรียกช่องเล็กๆนี้ว่าพอร์ท (Port) ครับ ... มีพอร์ทที่สะดือหนึ่งแห่งและที่ด้านข้างของช่องท้องส่วนล่างอีกข้างละหนึ่งพอร์ทคล้ายที่เห็นในรูป

พอร์ท (Port) ที่นิยมทำในการผ่าตัด MIS เพื่อตัดมดลูก
วันนี้พิเศษหน่อยที่เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องบันทึกภาพและจอแสดงผลแบบสามมิติหรือ 3D (Three Dimension) ... ก่อนหน้านี้หมอก็ผ่าตัดผ่านกล้องโดยกล้องบันทึกภาพและจอแสดงผลแบบสองมิติหรือ 2D (Two Dimension) ... ประมาณสามเดือนที่ผ่านมามีการนำระบบสามมิติมาใช้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ ...​ ประเมินจากตัวหมอเองพบว่าตัวเองผ่าตัดได้ดีขึ้นมาก ...​ ที่ว่าดีขึ้นมากหมอหมายถึงทั้งเร็วขึ้นและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเย็บแผล ... ความแตกต่างระหว่าง 2D และ 3D ก็คือเรื่อง ความลึก (Depth) ของภาพที่เห็นครับ ... ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกถึงตอนที่ท่านดูหนังสามมิติอย่างเช่นเรื่องอวตารหรืออีกหลายๆเรื่องสิครับ ... ท่านจะเห็นความลึกของภาพเหมือนเห็นของจริง ... อีกตัวอย่างของความแตกต่างระหว่าง 2D และ 3D คือการเดินลงบันได้โดยหลับตาซะหนึ่งข้างเทียบกับการลืมตาสองข้างแล้วเดินลงบันได ... ท่านจะพบว่าเสี่ยงต่อการตกบันไดมากครับถ้าใช้ตาข้างเดียวเดินลงบันไดเพราะท่านจะเห็นภาพเพียงสองมิติหรือ 2D ... ท่านจะไม่เห็นความลึกโดยไม่แน่ใจว่าจะยื่นเท้าลงไปลึกแค่ไหนในการก้าวลงบันไดขั้นต่อไป ...​ พอเปลี่ยนเป็นลืมดูทั้งสองตาท่านจะพบว่าจะเกิดความมั่นใจว่าจะก้าวลงบันไดได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ... การผ่าตัด MIS โดยผ่านกล้องและจอแบบ 3D ก็ทำนองนั้นแหละครับ 

ภาพในห้องผ่าตัด MIS โดยใช้กล้องแบบสามมิติ (3D)
ภาพเปรียบเทียบการเห็นความลึก (Depth)
การผ่าตัดเมื่อเช้าประสพความสำเร็จอย่างดี ... ตอนเย็นหมอไปเยี่ยมคนไข้พบว่าคนไข้ปวดแผลเพียงเล็กน้อย เริ่มจิบนำ้ได้ เอนตัวขึ้นมานั่งคุยกับญาติได้ และที่สำคัญคือยิ้มให้หมอได้ ... คาดว่าถ้าอาการดีขึ้นเร็วแบบนี้ก็คงกลับบ้านได้ในอีกสองวัน

เรื่องที่หมอคุยในบล็อกวันนี้ก็เป็นเพียงจุดเล็กๆน้อยๆเรื่องสามมิติ (3D) ในการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MIS) ซึ่งอาจเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา ...​ แต่หมอเองเชื่อว่าในไม่อนาคตอันใกล้นี้ท่านผู้อ่านอาจได้ยินหรือถูกถามจากแพทย์ผู้รักษาในกรณีที่ท่านเองหรือญาติของท่านต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ MIS ว่าจะเลือกผ่าตัดผ่านกล้องแบบ 2D หรือ 3D ... ถ้าถูกถามท่านผู้อ่านจะได้คุ้นกับคำนี้เอาไว้บ้าง ... ประเด็นเรื่อง 3D ที่นำมาใช้ในการผ่าตัดทางการแพทย์ยังมีอีกหลายประเด็นครับ ... ตัวหมอเองคิดว่า 3D จะเป็นคู่แข่งของการผ่าตัดแบบหุ่นยนต์หรือที่เรียกว่า Robotic Surgery ได้ในระดับหนึ่งทีเดียวละครับ


Robotic Surgery
ในยุคโลกาภิวัฒน์ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับหมอนะครับว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมากๆ ... แค่ยืนอยู่เฉยๆก็เหมือนเดินถอยหลังซะแล้ว ... การแพทย์ก็เช่นเดียวกันครับ ... แค่ไม่ติดตามข่าวสารไม่นานก็อาจตามไม่ทันคนอื่นๆแล้วซึ่งแม้แต่คนไข้ในปัจจุบันก็มีความรู้เยอะเพราะหาได้ไม่ยากจากอาจารย์กู๋หรืออาจารย์กูเกิ้ล (จริงไม๊ครับ?) ... ที่กล่าวมาเรื่องการผ่าตัดโดยอาศัยเทคโลยีใหม่ๆหมอไม่ได้หมายความว่าของเก่าไม่ดีนะครับ ... อยากจะบอกเพียงว่าของใหม่ได้เปรียบเพราะใช้ของเก่าเป็นพื้นฐานแล้วพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าของเก่า ... ก็แค่ดีกับดีกว่าเท่านั้นน่ะครับไม่ใช่ดีกับไม่ดี ...​ เราทุกคนมีสิทธิเลือกนะครับว่าจะเลือกแบบไหน ...​ ความเห็นแบบนี้หมอว่าน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆอย่างที่เราต้องเลือกในชีวิตในโลกยุคดิจิตอลนี้

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่





วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558


ช็อกโกแลตซิสต์ (Chocolate cyst)

คำว่าช็อกโกแลตซิสต์ (Chocolate cyst) ถูกนำมาเรียกกันจนจะเป็นภาษาไทยอยู่แล้วครับ ... คำว่าช็อกโกแลตก็คือช็อกโกแลตของหวานที่เราชอบรับประทานกันน่ะครับ ...​ ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในที่เย็นจะเป็นของแข็งแต่จะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มในที่ร้อน ... คำว่า ซิสต์ (Cyst) ก็แปลง่ายๆว่าถุงที่มีของเหลวข้างใน ... คำว่าซิสต์ (Cyst) ในทางการแพทย์ส่วนใหญ่มักไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งหรอกครับ ...​ ของเหลวในก้อนหรือในถุงนั่นก็อาจจะเป็น น้ำ เลือด ไขมัน น้ำเหลือง หรือน้ำหนอง เป็นต้น ...​ อย่างไรก็ตามซิสต์บางอย่างอาจเป็นถุงที่มีของเหลวซึ่งเกิดจากเนื้อมะเร็งที่มีการสลายตัวเป็นของเหลวก็ได้

มดลูกและปีกมดลูก (ปีกมดลูกหรือรังไข่ข้างซ้ายโตเป็นถุงเลือดเหลวๆหรือช็อกโกแลตซิสต์ในขณะที่ข้างขวาปกติ)
วันนี้หมอจะขอเขียนถึงช็อกโกแลตซิสต์ (Chocolate Cyst) ที่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงก้อนเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดที่ รังไข่ (Ovary) ของคุณผู้หญิง ... จริงๆแล้วก้อนชนิดนี้ไม่ได้มีช็อกโกแลตอยู่ภายในหรอกครับ ...​ ภายในก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นถุงชนิดนี้จะเป็นเลือดเก่าๆเหลวๆซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายช็อกโกแลตเหลวๆทำให้นิยมเรียกกันว่าช็อกโกแลตซิสต์

การที่เลือดไปออกและรวมตัวกันเป็นถุงเลือดอยู่ที่รังไข่เกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญผิดที่คือแทนที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะบุอยู่เฉพาะที่โพรงมดลูก ...​ กลับไปเจริญอยู่ที่อื่นนอกโพรงมดลูกซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องส่วนล่างของคุณผู้หญิงโดยเฉพาะที่รังไข่ ... ซึ่งในภาวะปกติทุกๆรอบเดือนที่ผ่านไปพบว่าเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นมาจากอิทธิของฮอร์โมนจากรังไข่เพื่อรองรับการฝังตัวของทารก ... หากไม่มีการฝังตัวของทารกซึ่งก็คือไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ...​ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะมีการหลุดลอกออกมาเป็นเลือดทุกๆเดือนหรือที่เรียกว่า ประจำเดือน (menstruation) น่ะครับ

เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ก็ตอบสนองต่อฮอร์โมนจากรังไข่เช่นกัน ... เยื่อบุที่อยู่ผิดที่ก็จะหนาตัวขึ้นมาทุกเดือนเหมือนในโพรงมดลูกและหลุดลอกออกมาเป็นเลือดทุกๆเดือนเหมือนกัน ... เลือดที่ออกจากโพรงมดลูกจะมีทางไหลออกสู่ภายนอกผ่านออกมาทางช่องคลอดในขณะที่เลือดที่ออกจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่จะไม่มีทางไหลออกมาภายนอกจึงขังตัวรวมกันอยู่ในช่องท้อง ... รวมกันไปเรื่อยๆทุกๆเดือนจนกลายเป็นถุงเลือดจากถุงเล็กๆก็จะกลายเป็นถุงใหญ่ๆในที่สุด ... ถุงเลือดที่รังไข่นี่แหละครับที่เรียกว่าช็อกโกแลตซิสต์ ... ผู้หญิงที่มีภาวะผิดปกติแบบนี้มักจะมีอาการปวดประจำเดือนมากและยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปและมักจะมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานและมีภาวะมีบุตรยาก

มดลูก (กลาง) และรังไข่ซ้าย (Chocolate cyst) และพังผืดที่ยึดมดลูกติดกับอวัยวะข้างเคียงทำให้ปวดประจำเดือนและมีบุตรยาก


โรค เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Endometriosis ครับ ... คนไข้มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดประจำเดือนมากหรือภาวะมีบุตรยาก ... หมอเองรู้สึกว่าพบโรคนี้ได้บ่อยมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีตและคิดว่าเหตุผลที่พอเป็นไปได้ที่ทำให้พบภาวะนี้บ่อยขึ้นก็เพราะผู้หญิงในปัจจุบันทำแต่งานและแต่งงานช้ากว่าผู้หญิงในอดีตหรือไม่ก็ครองความโสดไปเลย

ปวดประจำเดือนมีสาเหตุหลายอย่าง ... ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปวดประจำเดือน
ท่านผู้อ่านเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่เช่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายพูดกับลูกสาวหรือหลานสาวที่มีอาการปวดประจำเดือนบ้างไม๊ครับว่า "ปวดประจำเดือนน่ะไม่เป็นไรหรอก ... แต่งงานแล้วก็จะหายปวดไปเอง" คำพูดเหล่านี้ดูน่าจะเกี่ยวกับโรคนี้นะครับเพราะตอนเริ่มเป็นก็จะเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนแต่พอรีบแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยและโรคยังไม่เป็นมากมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานน้อยทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูง ... และโดยธรรมชาติ ... เมื่อตั้งครรภ์รกของทารกก็จะสร้างฮอร์โมนออกมายับยั้งการตกไข่ทำให้ไม่มีฮอร์โมนจากรังไข่มากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ทำให้ไม่มีการหนาตัวและไม่หลุดลอกกลายเป็นเลือดแต่กลับหยุดการเจริญเติบโตและฝ่อไปในที่สุดทำให้โรคนี้ทุเลาหรือหายไปได้จากการตั้งครรภ์ ...​ ผู้หญิงในปัจจุบันแต่งงานช้าทำให้โรคสะสมเป็นอยู่นานและมักมีพังผืดยึดติดมากเกิดภาวะมีบุตรยากทำให้โรคยิ่งเป็นมากยิ่งขึ้น

การสังเกตของคนสมัยก่อนก็มีหลายอย่างที่เป็นความจริงนะครับตัวอย่างเช่นเรื่องที่หมอเขียนมาในเบื้องต้นเกี่ยวกับช็อกโกแลตซิสต์

ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เช่น การวินิจฉัย การรักษา หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ ... มีโอกาสหมอจะเขียนเพิ่มเติมในมุมมองอื่นๆของโรคนี้มาให้ได้อ่านกันอีกนะครับ ... สวัสดีและรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เอชพีวีวัคซีน

วันนี้หมอขอเขียนต่อจากบล็อกเมื่อวานหน่อยนะครับ ... เมื่อวานหมอเขียนเรื่องเอชพีวี (HPV) แล้วเช้านี้ก็ไปบรรยายเรื่อง "มะเร็งปากมดลูก ...​ ความเสี่ยงที่เลือกได้" ... และอย่างที่ได้เขียนไปเมื่อวานแล้วครับว่าเอชพีวีเป็นกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอชพีวีสายพันธ์ที่ 16 และ 18 (HPV-16, HPV-18) ...​ วันนี้พอบรรยายเสร็จแล้วเปิดให้ซักถามก็มีคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีว่า ควรฉีดให้ใคร อายุเท่าไหร่ ฉีดกี่เข็ม ต้องกระตุ้นหลังฉีดครบหรือไม่ และวัคซีนปลอดภัยแค่ไหน

เมื่อถูกถามหมอก็ตอบไปทุกคำถามครับเลยแต่เวลาที่มีสำหรับการตอบค่อนข้างจำกัด ...​ กลับมาบ้านเลยอยากมาตอบในบล็อกเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงนี้อีกครั้งครับเผื่อจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้าง

คำถามว่าฉีดให้ใคร ... คำตอบก็คือฉีดให้ได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายครับ ที่ดีที่สุดคือในคนที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์เพราะวัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนป้องกัน (Preventive Vaccine) ไม่ใช่วัคซีนรักษา (Therapeutic Vaccine) จึงมีประโยชน์สูงสุดในคนที่ยังไม่มีการติดเชื้อ ... แต่ในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ฉีดได้นะครับแต่อาจได้ประโยชน์ไม่เต็มที่นักเพราะหากมีการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธ์ที่มีในวัคซีนไปแล้วก็จะไม่สามารถป้องกันเชื้อตัวที่ติดไปแล้วได้ ... ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้หญิงจำนวนมากพอสมควรเลยครับที่มีขอรับการฉีดวัคซีนแม้มีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยมักจะคิดว่ายังไม่น่าจะติดเชื้อหรือถ้าติดก็ไม่น่าจะติดทุกสายพันธ์ที่มีในวัคซีน ... ได้ภูมิต้านทานบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย

เอชพีวีวัคซีนฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
คำถามว่าควรฉีดในช่วงอายุเท่าไหร่ ... คำตอบก็คืออายุเท่าไหร่ก็ได้ครับ ... ที่แนะนำตามงานวิจัยคือเริ่มตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นไปเพราะในช่วงอายุนี้มักจะยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ถ้ารอไปฉีดในช่วงอายุมากกว่านี้ก็อาจมีเพศสัมพันธ์และมีการติดเชื้อเอชพีวีไปแล้วเพราะสังคมปัจจุบันมักจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วหรืออายุน้อยกว่าสังคมสมัยก่อนมากครับ

คำถามว่าวัคซีนเอชพีวีควรฉีดกี่เข็ม ... เมื่อตอนออกมาใหม่ๆแนะนำให้ฉีดให้ครบ 3 เข็มครับ คือฉีดเข็มแรกแล้วเว้นไป 1-2 เดือนจึงฉีดเข็มที่สอง หลังจากนั้นเว้นไป 4-5 เดือนจึงค่อยฉีดเข็มที่สาม (ต่างกันเล็กๆน้อยๆขึ้นกับเป็นแบบวัคซีน 2 สายพันธุ์หรือ 4 สายพันธุ์) ... พูดง่ายๆก็คือฉีดให้ครบ 3 เข็มใน 6 เดือนน่ะครับ ... ล่าสุดมีคำแนะนำใหม่ออกมาครับว่าหากฉีดในช่วงอายุ 9-13 ขวบจะสามารถลดการฉีดลงเหลือเพียงสองเข็มได้โดยฉีดเข็มแรกแล้วเว้นไปอีก 6 เดือนจึงค่อยฉีดเข็มที่สองก็จะได้ภูมิคุ้มกันเหมือนการฉีดสามเข็มครับ

คำถามว่าต้องกระตุ้นหลังฉีดครบหรือไม่ ... ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดกระตุ้น (Booster) ครับ เพราะพบว่าการติดตามในกลุ่มอาสาสมัครที่ทำวิจัยไปเรื่อยแม้การวิจัยจะเสร็จไปแล้ว ... พบว่าในกลุ่มอาสาสมัครดังกล่าวยังมีภูมิต้านทานและป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธ์ที่มีในวัคซีนได้หลังจากเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 10 ปี ... คาดว่าเมื่อติดตามต่อไปเรี่อยๆก็น่าจะมีภูมิต้านทานอยู่ตลอดนะครับจึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดกระตุ้นในเวลานี้

คำถามว่าปลอดภัยแค่ไหน ... ขอตอบว่าปลอดภัยมากครับเพราะวัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนที่ทำจากสารที่เสมือนเปลือกหุ้มของไวรัสหรือที่เรียกว่า VLP (Virus-Liked Particle) ไม่ใช่ตัวเชื้อไวรัสโดยตรงจึงไม่มีสายพันธุกรรม (Genome) ที่ก่อให้เกิดโรค ... วัคซีนบางชนิดทำจากตัวเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตเพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ แต่เชื้อดังกล่าวจะต้องถูกทำให้อ่อนแรงลงไปก่อนและไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้แต่อาจมีอาการข้างเคียงคล้ายๆการติดเชื้อจริงบ้างแต่อาการดังกล่าวจะน้อยมาก ตัวอย่างวัคซีนกลุ่มนี้เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม เป็นต้นครับ

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเอชพีวีวัคซีนคือ ... องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) เพิ่งประกาศรับรองวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ ... เมืองไทยของเราคงยังอีกนานครับกว่าจะมีใช้ ...​ ถ้าใครจะฉีดหมอก็สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนชนิดที่มีในบ้านเราไปเลยครับ ... ไม่ควรรอ

จริงๆแล้วอาจจะยังมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องเอชพีวีวัคซีนอีกมาก ... หมอขอเขียนเล่าสู่กันฟังในวันนี้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ... วันหน้าถ้ามีโอกาสค่อยเขียนกันใหม่ ... สวัสดีและโชคดีทุกท่านนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่


วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เอชพีวี (HPV)

พรุ่งนี้หมอมีโปรแกรมไปบรรยายเรื่อง "มะเร็งปากมดลูก ... ความเสี่ยงที่เลือกได้" เลยอยากเขียนบล็อกสั้นๆเรื่องเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นชื่อย่อของไวรัสกลุ่มที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มาให้อ่านกันหน่อยครับเผื่อจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้าง
รูปเชื้อไวรัสเอชพีวื


เอชพีวีคือกลุ่มไวรัสกลุ่มหนึ่งครับ ... ชื่อเต็มๆคือ Human Papillomavirus หรือที่เขียนย่อๆว่า HPV ... ปัจจุบันคนไทยเริ่มรู้จักและเรียกกันทับศัพท์กันไปเลยเช่นพูดว่า ... "ไปตรวจเอชพีวีมา" หรือ "ไปฉีดวัคซีนเอชพีวีมา" เป็นต้น

รูปมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
ไวรัสกลุ่มเอชพีวีที่มนุษย์รู้จักกันมีอยู่ร้อยกว่าสายพันธุ์ครับ ... สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปากมดลูกมีอยู่ประมาณสิบกว่าสายพันธุ์ ... สิบกว่าสายพันธุ์นี้เราเรียกว่าเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูง (High-risk HPV) ... ในกระบวนกลุ่มเสี่ยงสูงสิบกว่าสายพันธุ์นี้พบว่าสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูงสุดคือสายพันธุ์ที่ 16 และสายพันธุ์ที่ 18 (HPV-16, HPV-18) ซึ่งสองสายพันธุ์นี้เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 70% ... ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทที่ผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเลือกที่จะทำวัคซีนที่ป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งไม่ได้ป้องกันเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงทุกสายพันธุ์ (ทำนองเดียวกันกับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีซึ่งไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบเอและซีเป็นต้น)

แม้ HPV vaccine ที่มีในปัจจุบันจะไม่ได้ป้องกันไวรัสกลุ่มเสี่ยงสูงทุกสายพันธุ์แต่การที่สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ 16 กับ 18 ได้ก็สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 70% แล้ว ซึ่งก็นับว่าคุ้มค่าแล้วละครับ ... ยิ่งในปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าเชื้อเอชพีวีไม่ได้ทำให้เกิดเฉพาะมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งอีกหลายชนิดเช่น มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปาก รวมทั้งโรคที่ไม่ใช่มะเร็งแต่ก็เป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขเช่นหูดหงอนไก่อีกด้วย (หูดหงอนไก่ส่วนใหญ่เกิดจากเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 6 และ 11) ... ทำให้การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีด้วยการใช้วัคซีนดูเหมือนน่าจะคุ้มค่ายิ่งขึ้นอีกครับ

เอชพีวีวัคซีนแบบสองสายพันธุ์

เอชพีวีวัคซีนแบบสี่สายพันธุ์

เกือบลืมบอกไปแน่ะครับว่าการติดเชื้อเอชพีวีมากกว่า 90% ติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ... ซึ่งน่าจะพูดได้ว่าการป้องกันการติดเชื้อที่ดีอีกวิธีหนึ่งซึ่งไม่เปลืองเงินทองเลยก็คือการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆหรือการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายๆคน ... ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวดูเหมือนว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในสังคมปัจจุบันนะครับ ... การเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวอาจเรียกเล่นๆว่าเป็นวัคซีนทางสังคมหรือ "Social Vaccine" ก็ได้นะครับ ... ไม่รู้ว่า Social Vaccine จะทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในเรื่องพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันและในอนาคตได้หรือไม่ ... ถ้าไม่ทันก็คงจำเป็นต้องใช้เอชพีวีวัคซีนกันละครับ

คนไทยในปัจจุบันใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกทับศัพท์กันมากจนบางคำคุ้นปากเหมือนเป็นภาษาไทยไปแล้วเช่นคำว่า OK เป็นต้น ... เอชพีวีก็เป็นอีกคำหนึ่งที่มีคนเรียกทับศัพท์กันมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งหลังจากอ่านข้อความเบื้องต้นจบหมอหวังว่าท่านผู้อ่านคงพอรู้จักคำว่าเอชพีวีมากขึ้นนะครับ

วันนี้จบแค่นี้นะครับ ... วันหลังหมอค่อยเขียนเรื่องอื่นๆมาให้อ่านกันใหม่ ... ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้ดีนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ.กรุงเทพ-หาดใหญ่










วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558



การผ่าแผลเล็กผ่านกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Surgery)


วันนี้หมอขอคุยเรื่องผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานของคนไข้ผู้หญิงรายนึงนะครับ ... คนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) และถุงนำ้รังไข่ (Ovarian Cyst) ... ที่ต้องผ่าตัดเพราะมีอาการปวดท้องโดยเฉพาะเวลามีรอบเดือนหรือปวดระดู (Dysmenorrhea) และเลือดออกผิดปกติจากมดลูก ... ตรวจภายในและตรวจอัลตร้าซาวด์พบว่ามีเนื้องอกมดลูกและถุงน้ำรังไข่ซึ่งมีข้อบ่งชี้เข้าข่ายที่สมควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดส่วนใหญ่จะดูที่ขนาดหรือภาวะแทรกซ้อนของก้อนที่ตรวจพบ ... แต่วันนี้หมอจะขอข้ามไปก่อนนะครับว่ารายละเอียดของข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเป็นอย่างไร ...​ วันนี้จะคุยเรื่องการผ่าตัดในช่องท้องส่วนล่าง (Lower abdomen) หรือในอุ้งเชิงกราน (Pelvis) ของคุณผู้หญิงครับว่าปัจจุบันเรานิยมทำผ่าตัดกันอย่างไร
ตัวอย่างตำแหน่งแผลที่เจาะหน้าท้องในการผ่าตัด MIS

การผ่าตัดในช่องท้องหรือในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงในปัจจุบัน ... นิยมทำผ่าตัดแบบแผลเล็กครับ ... ตัวย่อภาษาอังกฤษที่นิยมใช้เรียกการผ่าตัดแบบแผลเล็กคือ MIS ซึ่งย่อมาจากคำเต็มๆว่า Minimal Invasive Surgery ซึ่งถ้าผ่าตัด MIS ในช่องท้องก็มักนิยมเรียกว่า Laparoscopic Surgery ซึ่งก็เป็น MIS ชนิดหนึ่งนั่นเอง ... การผ่าตัดแผลเล็กหรือ MIS ไม่ได้แปลว่าการผ่าตัดเล็กนะครับเพราะใช้ได้ทั้งการผ่าตัดเล็กซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็กๆน้อยๆหรือเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งผ่าตัดได้มากเหมือนการผ่าตัดแผลใหญ่แบบที่ทำกันมาตั้งแต่ในอดีตเพียงแต่แผลเล็กกว่ามากและเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องและจอโทรทัศน์ ...​ ตัวอย่างเช่นคนไข้ที่หมอกล่าวมาเบื้องต้นซึ่งการผ่าตัดที่ทำเป็นการผ่าตัดทั้ง เลาะพังผืดที่ยึดลำใส้ที่มาเกาะติดกับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่นมดลูกและปีกมดลูก ตามด้วยการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูกที่เป็นก้อนเนื้องอกออกมาทั้งหมดผ่านแผลเล็กๆ

รูปภาพตัวอย่างการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง

ในคนไข้ที่กล่าวในเบื้องต้น ..​.​ หมอผ่าตัดโดยเจาะหน้าท้องเป็นแผลเล็กๆขนาดประมาณครึ่งเซ็นติเมตรจำนวนสองแผลทางด้านข้างของช่องท้องส่วนล่างทางซ้ายและขวาและอีกหนึ่งแผลที่สะดือโดยแผลที่สะดือนมีขนาดประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร ...​ แผลในสะดือเมื่อหายแล้วมักจะมองไม่เห็นเพราะซ่อนอยู่ภายในสะดือครับ ... หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการผ่าตัดโดยผ่าตัดผ่านทางกล้องส่องช่องท้องซึ่งภาพที่แพทย์ผู้ผ่าตัดและผู้ช่วยเห็นจะปรากฏอยู่บนจอโทรทรรศน์ ... ในคนไข้รายนี้พบว่ามีพังผืดยึดติดระหว่างลำใส้กับมดลูกมากและมีก้อนเนื้องอกมดลูกและถุงน้ำรังไข่ขนาดประมาณ 8 เซ็นติเมตรและ 4 เซ็นติเมตรตามลำดับ

ตัวอย่างภาพที่เห็นทางจอโทรทัศน์ในการผ่าตัด MIS ในคนไข้ที่มีก้อนเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
ท่านผู้อ่านคงสงสัยนะครับว่า ... แล้วหมอเอาก้อนออกได้ยังไงเพราะก้อนใหญ่กว่าแผลที่เจาะตั้งเยอะ ... คำตอบก็คือ ... หมอผ่าตัดเลาะพังผืดก่อนแล้วจึงทำการตัดมดลูกและปีกมดลูกซึ่งหมายถึงถุงน้ำรังไข่ ... ต่อจากนั้นหมอก็ใส่ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะที่พับแล้วสอดผ่านแผลเล็กๆที่เจาะในเบื้องต้น ... ใส่ถุงพลาสติดเข้าไปไว้ในช่องท้อง ... นำมดลูกและปีกมดลูกที่ตัดมาใส่ในถุงพลาสติก ... ดึงปากถุงมาโผล่ออกตรงแผลที่สะดือ ... หลังจากนั้นก็ใช้มีดและกรรไกรค่อยๆตัดแบ่งย่อยชิ้นเนื้อทั้งหมดออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้วดึงผ่านแผลที่สะดือออกมาทีละชิ้นจนหมด ... วิธีนี้ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Morcellation ครับ ... โดยทั่วไปการผ่าตัดในคนไข้ที่มีบุตรแล้วมักจะนิยมนำชิ้นเนื้อออกทางช่องคลอดครับ ... รายนี้ทำแบบนั้นยากเพราะคนไข้โสดจึงนำชิ้นเนื้อแบ่งออกมาทางแผลที่สะดือแทน

หลังจากนั้นก็ทำการตรวจสอบเรื่องต่างๆเช่น การหยุดเลือด การนับเครื่องมือผ่าตัด ... ซึ่งเมือเรียบร้อยแล้วก็จะทำการเย็บปิดแผลที่เจาะทั้งหมด 

การผ่าตัดแผลเล็กหรือ MIS มีข้อดีหลายอย่างเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ครับ ยกตัวอย่างได้แก่ ... การเจ็บแผลจะน้อยกว่ามาก ... การฟื้นตัวของคนไข้จะเร็วกว่าอย่างชัดเจนโดยคนไข้มักจะอยู่โรงพยาบาลหรือ Admit ไม่นานและกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตแบบปกติได้เร็วกว่า ... การเสียเลือดก็มักจะน้อยกว่า เป็นต้นครับ

อย่างไรก็ตามในการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือ MIS ในบางครั้ง ... อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบแผลใหญ่หากมีความจำเป็น

วันนี้คุยกันแบบสั้นๆนะครับ ...​ ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากเพราะอาจทำให้ผู้อ่านเบื่อซะก่อน ... อย่างน้อยท่านผู้อ่านก็คงได้รู้จักศัพท์ใหม่บางคำ ... ทั้งศัพท์ภาษาไทยและศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ ... เช่นคำว่า ... การผ่าตัดแผลเล็ก ... การผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง ... MIS (Minimal Invasive Surgery) ... และ Laparoscopic Surgery เป็นต้น

ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพและโชคดีนะครับ

รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่










วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บางประเด็นของคุณผู้หญิงเกี่ยวกับห่วงคุมกำเนิด

วันนี้หมอมีคนไข้ชาวจีนมาจากมาเลเซียอายุ 40 ปีเศษ ... มาปรึกษาหมอด้วยเรื่องมีเลือดออกกระปริบกระปรอยจากช่องคลอด ... จากการตรวจภายในพบว่ามีเลือดออกมาจากโพรงมดลูกครับไม่ใช่ออกจากช่องคลอดโดยตรง ... ช่องคลอดเป็นเพียงทางผ่านของเลือดออกมาเท่านั้น 

เนื่องจากต้องคุยผ่านล่ามซึ่งต้องแปลจากภาษาจีนเป็นอังกฤษจึงไม่ได้ประวัติทั้งหมดในเบื้องต้น ... เมื่อซักประวัติโดยละเอียดอีกครั้งจึงรู้ว่าคนไข้ผู้หญิงจีนรายนี้คุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือที่เรียกว่า "ไอยูดี ...  IUD (Intra Uterine Device)" โดยใส่มาจากประเทศจีน ... คนไข้ไม่สามารถบอกถึงรายละเอียดของห่วงได้ว่าเป็นห่วงชนิดใดและไม่ได้รับการสอนเรื่องการดูแลตนเองมาด้วย ... รู้เพียงแพทย์ใส่อะไรไปในโพรงมดลูกเพื่อคุมกำเนิด ... ดูรูป IUD ชนิดต่างๆจากรูปต่อไปนี้



โดยปกติการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงเข้าไปในโพรงมดลูก ... แพทย์จะต้องสอนให้คนไข้ตรวจห่วงด้วยตนเองว่ายังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ ... การตรวจทำได้โดยการคลำสายห่วงด้วยตนเองด้วยการใส่นิ้วมือเข้าไปคลำสายห่วงที่โผล่มาจากปากมดลูก ... ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีการตรวจด้วยตนเองเลย



จากการตรวจภายในในเบื้องต้นหมอเองก็ไม่เห็นว่ามีสายห่วงโผล่ออกมาจากปากมดลูกจึงไม่ทราบว่าห่วงหลุดออกไปแล้วหรือมีการหมุนกลับไปอยู่ในตำแหน่งผิดปกติในโพรงมดลูกหรือทะลุออกจากมดลูกไปอยู่ในช่องท้องแล้ว



เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาปรึกษาด้วยเรื่องเลือดออกกระปริบกระปรอย ... ห่วงคุมเนิดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการมีเลือดออกกระปริบกระปรอยได้ ... และการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้หญิงอายุช่วงนี้ที่มีเลือดออกกระปริบกระปรอยคือการขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้รู้ว่าเกิดจากโรคร้ายๆเช่นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (CA Endometrium) หรือไม่

หมอจึงได้บอกผู้ป่วยไปว่าควรดูแลรักษาด้วยการขูดมดลูก (Uterine Curettage) ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งการตรวจหาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติและยังอาจใช้เป็นการวินิจฉัยว่ามีห่วงอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ ... แต่ก่อนการขูดมดลูกควรเอ็กเรย์หรือตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ดูก่อนด้วยเพราะอาจเห็นห่วงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประกอบแนวทางในการดูแลรักษา ... คนไข้เข้าใจพอสมควรและขอกลับไปคิดดูก่อนและจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง

ที่หมอคุยมาวันนี้ก็เพียงอยากให้ท่านผู้หญิงที่อ่านได้ทราบบางประเด็นของการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงนะครับ ... จริงๆแล้วเรื่องห่วงคุมกำเนิดมีประเด็นที่น่าคุยกันเยอะแยะเลยเพราะห่วงที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกหรือ IUD มีหลายชนิดและมีทั้งที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิดและใช้เพื่อการรักษาความผิดปกติในโพรงมดลูก ...​ อย่างน้อยก็รู้จักคำว่า IUD (Intra Uterine Device) ก็ยังดีนะครับ

เกือบเที่ยงคืนแล้ว ... พรุ่งนี้หมอมีผ่าตัดมดลูกด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องแต่เช้า ... ขอไปนอนก่อนนะครับ ... หวังว่าบทความสั้นๆนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง ... ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่







วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เนื้องอกรังไข่ชนิดเดอร์มอย (Dermoid cyst) ... เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้

สวัสดีครับคุณผู้หญิงทุกท่าน ... หมอไม่ได้เขียนบล็อกมาหลายวันเพราะไปประชุมที่สุโขทัยมาครับ ... กลับมาทำงานเมื่อสามสี่วันก่อนก็มีงานเข้ามาตลอด ... ทั้งตรวจคนไข้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหรือที่เรียกว่า OPD (Out Patient Department) และผ่าตัดคนไข้ในหรือที่เรียกว่า IPD (In Patient Department) ... วันนี้ทานข้าวเย็นเสร็จแล้วเลยอยากเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆที่อาจมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงไว้อ่านประกอบการดูแลตนเองครับ

วันนี้ตอนเช้าออกตรวจตามปกติ ... มีคนไข้ผู้หญิงรายหนึ่งโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องก้อนที่รังไข่ครับ ... คำถามก็คือเธอไปตรวจร่างกายประจำปีมาซึ่งมีทั้ง ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ และอีกหลายๆอย่าง ... แล้วยังมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างด้วย ... ผลทุกอย่างปกติครับยกเว้นผลการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างซึ่งตรวจพบก้อนบริเวณปีกมดลูกซึ่งแพทย์ผู้อ่านผลรายงานว่าน่าจะเป็นก้อนเนื้องอกของรังไข่ (Ovarian tumor)

รังไข่ (Ovary) ... เป็นอวัยวะสำคัญของคุณผู้หญิงที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ... แม้มีขนาดไม่ใหญ่นักคือมีขนาดเพียงประมาณ 1x2x3 เซ็นติเมตร แต่รังไข่ก็มีหน้าที่สำคัญมากๆคือสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและทำหน้าที่ในการตกไข่ (Ovulation) ทุกรอบเดือนทำให้มีการตั้งครรภ์หากมีการร่วมเพศในช่วงเวลาที่มีการตกไข่ ... แต่รังไข่เองก็อาจเกิดความผิดปกติหรือเป็นโรคได้หลายอย่าง ... โรคของรังไข่มีทั้งที่ดูรูปร่างปกติแต่การทำงานผิดปกติและแบบที่รูปร่างผิดไปจากปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดเป็นก้อนหรือเนื้องอก

เนื้องอกรังไข่อาจเป็นเพียงถุงน้ำเล็กๆที่เรียกว่าซิสต์ (Cyst) ซึ่งมักไม่มีอาการและไม่มีอันตราย ... มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ ... แต่หลายครั้งที่ก้อนเล็กๆของรังไข่นี่แหละครับที่เป็นต้นกำเนิดของมะเร็งซึ่งก็เริ่มต้นจากก้อนเล็กๆที่ไม่มีอาการ ... โตหรือมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีอาการ ... จะไปรู้อีกทีก็เมื่อคลำก้อนได้ทางหน้าท้องซึ่งก็มักมีขนาดเกิน 10 เซ็นติเมตรขึ้นไปแล้ว

คุณผู้หญิงที่โทรฯมาปรึกษารายนี้รายงานว่าไม่มีอาการผิดปกติอะไรนอกจากปวดถ่วงๆท้องน้อยเป็นบางครั้งบางคราว ... แพทย์ผู้ตรวจบอกว่าก้อนที่ตรวจพบจากอัลตร้าซาวด์มีขนาดประมาณ 8 เซ็นติเมตร ... ลักษณะเป็นถุงที่มีทั้งของเหลวและก้อนเนื้ออยู่ภายใน ... แพทย์ผู้ตรวจอัลตร้าซาวด์บอกว่าน่าจะเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีทั้ง ผม ฟัน กระดูก และเยื่อเมือกอยู่ภายใน (ดูรูปประกอบ)


ฟังจากคำอธิบายทางโทรศัพท์ทำให้หมอเองนึกถึงภาพของเนื้องอกรังไข่ที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งครับที่เรียกว่า "เดอร์มอยซิสต์ (Dermoid cyst)" ซึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ที่มักไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งแต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ปวดท้องแบบฉุกเฉินได้จากการบิดขั้ว (Twist) หรือการแตก (Rupture) ของก้อน

เนื่องจากเป็นการคุยปรึกษาทางโทรศัพท์ซึ่งให้รายละเอียดได้ไม่มากนัก ... หมอเลยตอบไปในเบื้องต้นว่าอย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลจนเกินไปเพราะฟังดูแล้วน่าจะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง (มีโอกาสเป็นครับแต่ไม่มากนัก) ... แต่ควรระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบิดขั้วหรือการแตกของก้อน ... ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมหรือกระทบกระเทือนบริเวณช่องท้องแบบแรงๆ และควรมาตรวจยืนยันอีกครั้งเพื่อดูในรายละเอียดและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ... ซึ่งหากเป็นก้อนดังกล่าวจริงอาจรักษาได้โดยการผ่าตัดซึ่งควรทำเสียก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อน ... และหากต้องผ่าตัดก็ไม่ต้องกังวลมากนักเพราะการผ่าตัดในปัจจุบันสามารถทำได้แบบแผลเล็กด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ซึ่งไม่เจ็บมากนัก ฟื้นตัวเร็ว และมีความปลอดภัยสูง

หลังจากคุยในเบื้องต้นเสร็จ ... คุณผู้หญิงที่โทรศัพท์มาก็บอกว่าจะเข้าไปศึกษาต่อในอินเตอร์เน็ตและจะโทรศัพท์มานัดตรวจต่อไป

วันนี้เขียนสั้นๆเพื่อให้รู้จักคำว่าเนื้องอกรังไข่ชนิดเดอร์มอยซิสต์ (Dermoid cyst) ซึ่งพบได้บ่อย ... สำหรับประชาชนทั่วไปอาจฟังแล้วแปลกๆที่ก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดนี้อาจมี ผม ฟัน กระดูก และเนื้อเยื่อของร่างกายอีกหลายอย่างไปรวมกันอยู่ในก้อนเดียวกัน ... อาจฟังดูเหมือนถูกเวทย์มนต์ดำซึ่งไม่เกี่ยวกันเลยครับเพราะเนื้องอกดังกล่าวพบได้ทั่วโลกไม่ว่าจะในชนชาติหรือภาษาใดก็ตาม

ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ
รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ





วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


อาการของเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)



เมื่อวานมีคนไข้มาปรึกษาเรื่องเนื้องอกมดลูกครับ ... คุณผู้หญิงรายนี้ไม่มีอาการอะไรผิดปกติแต่ไปตรวจพบก้อนเนื้องอกที่ตัวมดลูกโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตร้าซาวน์บริเวณช่องท้องส่วนล่างซึ่งเป็นการตรวจร่างกายประจำปีของทางบริษัท ... คำถามของคนไข้รายนี้ที่ถามหมอคือเธอมีก้อนเนื้องอกที่มดลูกแต่ทำไมเธอไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย?

ในเบื้องต้นหมอขอตอบแบบคร่าวๆนะครับว่า ...​ เนื้องอกมดลูกเป็นคำรวมๆซึ่งหมายถึงการมีก้อนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติที่ตัวมดลูกทำให้มดลูกโตกว่าธรรมดา ...​ เนื้องอกมดลูกมีทั้งชนิดที่ผิดปกติแต่ไม่ใช่เนื้อร้ายและชนิดที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง ... วันนี้หมอจะขอพูดเรื่องเนื้องอกมดลูกที่ไม่ใช่มะเร็งนะครับ

เนื้องอกมดลูกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Myoma uteri ครับ ... พบได้บ่อยมาก ... มีทั้งชนิดที่มีอาการและไม่มีอาการครับ ... อาการที่พบและทำให้คนไข้ต้องมาปรึกษาสูตินรีแพทย์มีหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน ปัสสาวะบ่อย ปวดถ่วงท้องน้อย คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย หรือแม้แต่ภาวะการมีบุตรยาก เป็นต้น ...​ แต่อาการที่พบได้บ่อยๆได้แก่ ... อาการที่เลือดระดูหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ (Menorrhagia) และอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มากผิดปกติครับ

ในรายที่มีเลือดระดูออกมามากผิดปกติ (Menorrhagia) ... คนไข้มักจะบอกว่าเลือดที่ออกจะเป็นสีแดงสดๆ ออกเป็นก้อนๆ (ระดูปกติไม่ควรออกเป็นก้อนๆนะครับ) และต้องใช้ผ้าอนามัยจำนวนมากต่อหนึ่งรอบเดือน ... ในรายที่ปล่อยเอาไว้นานแพทย์อาจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซีดหรือโลหิตจาง (Anemia) ร่วมด้วย ... บางรายก็ไม่มีอาการของโลหิตจางเพราะยังเป็นมาไม่นานจึงยังไม่มีภาวะโลหิตจางมากนักในขณะที่บางรายมีอาการแล้วแต่ไม่รู้ว่านั่นเป็นอาการของคนที่มีภาวะซีดหรือโลหิตจาง (หมอเคยมีคนไข้ที่โลหิตจางมากมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ เหนื่อยง่าย ไปเป็นลมที่ยอดเขาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ขณะไปเที่ยวที่นั่น ... โชคไม่ดีเพราะไปมีรอบเดือนที่นั่นพอดีและไปอยู่บนที่สูงซึ่งมีอ๊อกซีเจนต่ำ ... ทำให้เป็นลมคาลานสกีเลยละครับ ... เกิดภาวะฉุกเฉินจนเกือบเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่ก็ยังประคับประคองกันมาได้จนถึงบ้านที่หาดใหญ่ ... ตรวจพบว่ามดลูกโตจนถึงระดับสะดือหรือเท่าคนท้อง 5 เดือน ... ตอนนี้หมอผ่าตัดให้เรียบร้อยหมดปัญหาและไปเที่ยวต่างประเทศได้สบายแล้วครับ)

ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มากผิดปกติ ... อาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการมีระดูและปวดมากจนไม่สามารถระงับได้ด้วยยารับประทาน บางรายต้องใช้ยาฉีด หรือบางรายต้องมาห้องฉุกเฉินเพราะปวดมากจนทนไม่ไหว

ก็มาถึงการตอบคำถามที่หมอโดนถามจากคนไข้แล้วนะครับว่าทำไมบางรายที่มีเนื้องอกมดลูกแต่ไม่มีอาการผิดปกติเลย? ... คำตอบก็คืออาการมักขึ้นกับตำแหน่ง (Site) หรือขนาด (Size) ของก้อนเนื้องอกครับ (ขอให้ดูรูปด้านบนประกอบด้วยจะได้พอนึกตามและเห็นภาพไปด้วยพร้อมกับคำอธิบายของหมอ)


  • ในเรื่องของตำแหน่ง (Site) ของก้อนเนื้องอก ... จากรูปด้านบนทำให้เราแบ่งเนื้องอกมดลูกตามตำแหน่งได้เป็น 3 แบบได้แก่
    • แบบแรกเป็นเนื้องอกแบบที่อยู่นอกโพรงมดลูกซึ่งมักมีขั้ว (pedunculated) ห้อยออกไปนอกตัวมดลูกด้วย ... เนื้องอกแบบนี้มักไม่มีอาการปวด ไม่มีเลือดระดูออกผิดปกติ ... ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องรู้สึกท้องโตหรือคลำพบก้อนได้เองซึ่งก็คือเมื่อก้อนโตมากๆแล้ว (มดลูกขนาดปกติจะไม่สามารถคลำพบได้ทางหน้าท้อง)
    • แบบที่สองเป็นแบบที่อยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก (intramural) ... เนื้องอกแบบนี้ถ้ามีขนาดเล็กๆมักไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย แต่ถ้าขนาดโตขึ้นเรื่อยๆหรือมีจำนวนมาก ก็อาจทำให้มดลูกโตและมีทั้งอาการปวดระดูหรือมีเลือดระดูมามากหรือออกเป็นก้อนๆได้
    • แบบที่สามเป็นแบบที่ก้อนเนื้องอกอยู่ในโพรงมดลูก (intracavitary หรือ submucous) ... เนื้องอกแบบนี้มักมีอาการแม้มีขนาดไม่โตมากก็ตามเพราะตำแหน่งที่อยู่เป็นส่วนที่อยู่ในสุดของมดลูกซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเยื่อบุโพรงมดลูกทำให้เมื่อมีระดูจะมีเลือดระดูออกมากหรือออกนานและมักมีอาการปวดระดูมากเพราะมดลูกจะพยายามบีบไล่เหมือนก้อนเนื้องอกนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ค้างอยู่ในโพรงมดลูก



  • ในเรื่องของขนาด (Size) ของก้อนเนื้องอก ...​​ ไม่ค่อยยากในการเข้าใจนะครับเพราะก้อนยิ่งโตหรือมีจำนวนก้อนหลายก้อน ... ก็จะทำให้มดลูกทั้งหมดโต ... โพรงมดลูกก็กว้างและมดลูกหดรัดตัวไม่ดีทำให้มีเลือดระดูมามาก ... นอกจากนี้มดลูกที่โตอาจจะไปกดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่นกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการปวดถ่วงในอุ้งเชิงกรานหรือมีอาการปัสสาวะผิดปกติได้ครับ

ที่หมอเขียนมาทั้งหมดก็เป็นแบบคร่าวๆเกี่ยวกับอาการของเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) นะครับ ... รายละเอียดมีมากกว่านี้อีกเยอะเช่น สาเหตุของเนื้องอก การรักษาด้วยการผ่าตัด ฯลฯ ... หากมีโอกาสหรือมีคำถามมาหมอจะเขียนมาให้อ่านเรื่อยๆนะครับ ... หากท่านผู้อ่านรายใดสนใจประเด็นใดเป็นพิเศษก็ comment มาได้เลยนะครับ


ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนะครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่







วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขูดมดลูก (Uterine curettage)

สวัสดีครับคุณผู้หญิงที่ติดตามอ่านบล็อกของหมอวิรัชอยู่ ... พรุ่งนี้หมอมีคนไข้ขูดมดลูกหนึ่งรายตอนเช้าครับ ... วันนี้เลยอยากเขียนบล็อกเรื่องการขูดมดลูกเพราะคำๆนี้น่าจะเป็นคำที่ใช้กันเป็นประจำจนจะเป็นภาษาชาวบ้านอยู่แล้ว ... โดยทั่วไปที่ใช้ของการขูดมดลูกอาจแบ่งออกได้หลายแบบครับ เช่นแบ่งตามการตั้งครรภ์ว่าเป็นการใช้ในผู้หญิงกลุ่มที่มีการตั้งครรภ์หรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การแบ่งอีกแบบก็คือแบ่งว่าเป็นการทำเพื่อการวินิจฉัยโรคหรือใช้ทำเพื่อเป็นการรักษาโรค ... มาลองคุยกันแบบที่แบ่งว่าที่มีการตั้งครรภ์หรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์นะครับ

กลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ... มีตั้งแต่การทำให้แท้งหรือที่เรียกทั่วไปว่า "ทำแท้ง (Abortion)" ไปจนถึงการทำเพื่อรักษาภาวะตกเลือดจากการแท้งบุตรหรือตกเลือดหลังคลอดบุตร ... กลุ่มที่ทำให้แท้งก็มีทั้งแบบที่ผิดกฎหมาย (Illegal abortion) เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ได้ตั้งใจซึ่งมักเกิดปัญหาในการทำแท้งเนื่องจากการทำมักทำกันแบบหลบๆซ่อนๆและทำโดยผู้ที่ไม่ใช่สูตินรีแพทย์จึงมักมีภาวะแทรกซ้อนเช่นการติดเชื้อหรือการตกเลือดตามมาซึ่งหลายๆครั้งอาจรุนแรงถึงเสียชิวิตก็ได้ ... อีกกลุ่มก็คือการทำแท้งเพื่อเป็นการรักษา (Therapeutic abortion) ... ในกรณีนี้แม้แพทย์ผู้ทำไม่อยากทำเพราะเป็นความผิดตามหลักศาสนา ... แต่ก็มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเช่นการยุติการตั้งครรภ์ในสตรีที่เป็นโรคหัวใจบางประเภทซึ่งการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคหัวใจกำเริบจนผู้ตั้งครรภ์อาจเสียชีวิตได้ การทำแท้งประเภทหลังนี้อาจรวมถึงกรณีที่พบว่าทารกมีความพิการและไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หลังคลอดด้วย

กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ... กลุ่มนี้ก็แบ่งออกได้เป็นแบบที่ขูดมดลูกเพื่อการวินิจฉัย (Diagnostic uterine curettage) และแบบที่ขูดมดลูกเพื่อการรักษา​ (Therapeutic uterine curettage) ในกลุ่มที่ทำเพื่อการวินิจฉัยเช่นในผู้หญิงที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยทองหรือหลังการหมดระดู (Post-menopause) เพราะในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer) สูง ... ซึ่งการขูดมดลูกในกรณีนี้ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ตั้งแต่ระยะแรกๆทำให้การรักษาโรคมีโอกาสหายขาดสูงมาก ... สำหรับการขูดมดลูกเพื่อเป็นการรักษาส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่มีการตกเลือดบางชนิดซึ่งไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเป็นต้น

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางมุมของเรื่องการขูดมดลูกเท่านั้นนะครับ ... หมออยากจะบอกว่าการขูดมดลูกในปัจจุบันไม่ได้เจ็บไม่ได้มีอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่บางท่านคิดหรือได้ยินมาหรอกครับ ... เพราะการแพทย์ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากทั้งวิธีการทำและเครื่องมือที่ใช้ทำรวมทั้งยาที่ให้เพื่อระงับความรู้สึกด้วยนะครับ ... หากมีข้อบ่งชี้ในการขูดมดลูกไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำเพื่อการวินิจฉัยหรือเพื่อการรักษาหรือในภาวะท่ีตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ก็ตาม ... หมอขอให้ความมั่นใจเลยครับว่าไม่น่ากลัว ไม่เจ็บ และไม่มีอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่บางท่านอาจได้ยินมา ... ทั้งนี้หมอไม่ได้รวมถึงการทำแท้งแบบผิดกฎหมายนะครับเพราะกรณีดังกล่าวนอกจากมีอันตรายสูงแล้วยังเป็นเรื่องที่ผิดหลักของศีลธรรมอีกด้วย

เรื่องที่เขียนมาแม้เป็นเพียงส่วนเล็กๆของเรื่องการขูดมดลูก ...​ แต่ก็หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงทั้งหลายบ้างนะครับ ... ขอให้ทุกท่านโชคดีและรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่


วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประจำเดือนหรือระดู (Menstruation) 

วันนี้ตอนบ่ายสามโมงหมอมีรายการคุยกันผ่านโทรศัพท์กับดีเจโบวี่ผ่านสถานีวิทยุ FM-93 เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงผู้หญิง ... หัวข้อที่คุยคือเรื่อง "ประจำเดือน" หรือ "ระดู" ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Menstruation ซึ่งเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกทับศัพท์แต่เรียกแบบสั้นๆว่า "เมนส์" และใช้กันจนคุ้นและเรียกการมีระดูว่ามีเมนส์... เป็นเรื่องใกล้ตัวมากใช่ไม๊ครับ ... ซึ่งพอโดนถามแล้วตอบไปเรื่อยๆทำให้หมอคิดว่ามาเขียนลงในบล็อกนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง

หากแบ่งผู้หญิงออกตามการมีระดูก็คงแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ วัยก่อนมีระดู วัยมีระดูหรือที่เรียกว่าวัยเจริญพันธุ์ และวัยหมดระดูหรือวัยทองนั่นเอง ... ปกติระดูครั้งแรกในชีวิตผู้หญิงมักจะมีในช่วงอายุ 12-15 ปี ซึ่งอาจเร็วหรือช้ากว่านึ้นิดหน่อยได้นะครับ จะมาสม่ำเสมอทุกประมาณ 21-45 วัน พูดง่ายๆว่ามาทุกเดือนๆละครั้งเลยเรียกว่าประจำเดือนน่ะครับ ... ระดูจะมานานครั้งละประมาณ 2-7 วัน และในผู้หญิงที่ปกติจะมีระดูจนอายุประมาณ 45-55 ปี แล้วระดูจะเริ่มขาดหรือที่เรียกว่าวัยทอง

เมี่อรู้ว่าระดูหรือเมนส์ปกติเป็นอย่างไร ... ก็เลยโดนถามว่าแล้วเมนส์ผิดปกติเช่น มากระปริบกระปรอย มามาก มานาน ปวดเมนส์มาก หรือเมนส์ขาด เกิดจากอะไรได้บ้างและจะรักษาอย่างไร ... นี่ยังไม่รวมเรื่องวัยทองนะครับ​ ... แต่มีเวลาคุยกับดีเจโบวี่ของ FM-93 สั้นๆแค่เพียง 15-20 นาทีเท่านั้น ... ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามเช่นตัวอย่างที่ยกมาได้

จริงๆแล้วเรื่องประจำเดือน ระดู หรือเมนส์มาผิดปกติ ... เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในการสอนนักศึกษาแพทย์เลยนะครับ หากจะคุยกันทั้งหมดคงต้องคุยกันเป็นวันๆหรือเป็นอาทิตย์เลยก็ว่าได้ ... หากท่านผู้อ่านมีคำถามหมอก็คงต้องเลือกถามเป็นเรื่องๆไปไม่สามารถคุยหมดทุกเรื่องได้ ... แม้แต่ในบล็อกนี้ก็คงคุยได้เพียงลักษณะเมนส์ปกติพอเป็นสังเขป ... หากท่านผู้อ่านท่านใดมีคำถามเพิ่มเติม ... หมอรบกวนโทรฯมาถามได้ที่ 1719 ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ ... ต่อถึงหมอวิรัชได้นะครับ

วันนี้ขอจบแค่นี้และขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แป็ปสเมียร์ (Pap smear)

วันนี้หมอถูกคนไข้ถามว่าคำว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" มีที่มาอย่างไร? ... ก็เลยได้เรื่องสั้นๆที่คิดว่ามีประโยชน์และควรรู้มาแชร์ในบล็อกวันนี้ครับ

Pap smear เป็นภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้เรียกทับศัพท์กันจนจะกลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว ... ที่มาของคำนี้มาจากนามสกุลของแพทย์ชาวกรีก (Greek) ท่านหนึ่ง ... ชื่อเต็มๆของท่านคือ George N. Papanicolaou ... กรุณาสังเกตนะครับว่านามสกุลคือ Papanicolaou ถูกนำมาเรียกสั้นๆว่า Pap ... คุณหมอท่านนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2505 นะครับ ... ท่านเป็นแพทย์ชาวกรีกที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐอเมริกา ... ท่านได้ค้นพบสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้หญิงทั่วโลกโดยท่านได้เผยแพร่งานวิจัยและค้นพบของท่านในปี พ.ศ. 2846 ว่ามะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะเริ่มต้นด้วยการตรวจเซลล์จากปากมดลูก ... ซึ่งการย้อมดูเซลล์จากปากมดลูกทำได้ไม่ยากและทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของปากมดลูกตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะต้นๆทำให้การรักษาไม่ยากและได้ผลดีมากๆทำได้อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกลดลงอย่างมาก ... การย้อมดูเซลล์ดังกล่าวจึงได้รับการเรียกตามนามสกุลของท่านว่า Pap smear ซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

แม้ท่านได้เสียชีวิตไปนานกว่า 50 ปีแล้ว ... แต่ผลงานของท่านยังมีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับผู้หญิง ... ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือ Pap smear ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและทำเป็นการค้าภายใต้ชื่อต่างๆ เช่น ThinPrep, SurePath, LiquiPrep, CellPrep, และอีกหลายๆยี่ห้อ ... แต่ก็มักจะถูกเรียกว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" เพราะเป็นความคุ้นชินและเป็นการให้เกียรติกับคุณหมอ George N. Papanicolaou

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ยังเป็นปัญหาสุขภาพในระดับสากลที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการรณรงค์ป้องกันและรักษา ...​​ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) กลุ่มความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ... ในอนาคตการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการทำ Pap smear ยังคงน่าจะมีที่ใช้ต่อไป แต่อาจถูกท้าทายด้วยการตรวจหา HPV ก็ได้เพราะการตรวจไวรัสเอชพีวีมีความไวสูงและราคาถูกลงเรื่อยๆ

มีเวลาครั้งต่อไปหมอจะหาโอกาสเขียนในบล็อกนี้เกี่ยวกับ HPV นะครับเพราะ HPV เป็นกลุ่มไวรัสที่ใกล้ตัวทุกคนมากๆและเรียกได้เลยครับว่าเป็นภัยเงียบที่มาแบบนิ่มๆ

ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาอ่านมาจนถึงบันทัดนี้และขอให้รักษาสุขภาพนะครับ

รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่









วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)

บ่ายนี้มีคนไข้มาหาด้วยเรื่องเลือดประจำเดือน (Menstruation) ออกมามากเป็นก้อนๆ เป็นมาเกือบปีแล้ว ตอนมีรอบเดือนก็มักมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ... แค่มองดูก็เห็นว่าหน้าคนไข้ซีดมาก คงเสียเลือดมากและเป็นระยะเวลานาน ... เมื่อตรวจหน้าท้องก็คลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าวสันนิษฐานว่าคือมดลูกที่โตจากการเป็นเนื้องอก ขนาดของมดลูกที่โตเทียบเท่าคนที่ตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือนเศษ ... ตรวจภายในเสร็จเลยส่งไปตรวจเลือด ... ไม่น่าเชื่อเลยครับว่าคนไข้ของหมอรายนี้ทนอยู่ได้ยังไงเพราะผลออกมาพบว่าเลือดจางมากๆ ... มากซะจนบอกได้เลยว่าถ้าเป็นคนทั่วๆไปคงหัวใจวายไปแล้ว ... แต่ที่รายนี้ทนได้เพราะเป็นการเสียเลือดแบบเรื้อรังซึ่งทำให้ร่างกายปรับตัวไปเรื่อยๆ ... แต่ในที่สุดถึงจุดหนึ่งก็ไม่ไหวเพราะมีอาการอ่อนเพลียหน้ามืดและเหนื่อยง่ายกว่าคนอื่นๆเค้า

ตรวจเสร็จคนไข้ถามว่าแล้วจะทำยังไงดีคะ ? ... คำตอบที่เหมาะสมสำหรับคนไข้รายนี้ก็คือผ่าตัดมดลูกออกเพราะมีข้อบ่งชี้ครบทั้งเรื่องขนาดและภาวะแทรกซ้อน โดยมดลูกโตจนมีขนาดโตเกินคนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือนและมีอาการแทรกซ้อนคือมีเลือดออกมากจนมีภาวะโลหิตจาง (Anemia) และเริ่มมีภาวะซีดและมีอาการเหนื่อยเพลียอย่างชัดเจน

ได้อธิบายถึงการผ่าตัดมดลูกในปัจจุบันว่ามีความปลอดภัยสูง ... มีทั้งการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยเปิดแผลใหญ่ตามขนาดของก้อนหรือการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันเพราะคนไข้จะฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย และไม่ค่อยเจ็บแผล แต่ในรายนี้อาจต้องให้เลือดก่อนการผ่าตัดเพราะทิ้งไว้นานจนเลือดจางมากและเสี่ยงต่อการผ่าตัด

หลังการตรวจและให้คำปรึกษาเกือบชั่วโมง ... คนไข้ได้รับความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง รู้สึกสบายใจขึ้นเพราะรู้ว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไรและแจ้งว่าจะติดต่อกลับมาอีกครั้งหลังจากกลับไปปรึกษาทางครอบครัว

วันนี้แม้มีคนไข้ไม่มากนัก ... แต่คนไข้รายล่าสุดที่เป็นเนื้้องอกมดลูกรายนี้ก็น่าสนใจมากเพราะสามารถทนต่อภาวะเลือดจางได้อย่างไม่น่าเชื่อ ... อยากบอกคุณผู้หญิงทั้งหลายนะครับว่าถ้าเลือดประจำเดือนออกมากเป็นก้อนๆ ควรนึกถึงภาวะเนื้องอกมดลูกไว้ด้วยและแนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีภาวะนี้อยู่หรือไม่ ... อย่ารอไปเรื่อยๆและคิดว่าไม่น่าเกิดกับตัวของเรานะครับ

ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้หญิงทุกคนครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ.กรุงเทพ-หาดใหญ่