วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แป็ปสเมียร์ (Pap smear)

วันนี้หมอถูกคนไข้ถามว่าคำว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" มีที่มาอย่างไร? ... ก็เลยได้เรื่องสั้นๆที่คิดว่ามีประโยชน์และควรรู้มาแชร์ในบล็อกวันนี้ครับ

Pap smear เป็นภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้เรียกทับศัพท์กันจนจะกลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว ... ที่มาของคำนี้มาจากนามสกุลของแพทย์ชาวกรีก (Greek) ท่านหนึ่ง ... ชื่อเต็มๆของท่านคือ George N. Papanicolaou ... กรุณาสังเกตนะครับว่านามสกุลคือ Papanicolaou ถูกนำมาเรียกสั้นๆว่า Pap ... คุณหมอท่านนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2505 นะครับ ... ท่านเป็นแพทย์ชาวกรีกที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐอเมริกา ... ท่านได้ค้นพบสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้หญิงทั่วโลกโดยท่านได้เผยแพร่งานวิจัยและค้นพบของท่านในปี พ.ศ. 2846 ว่ามะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะเริ่มต้นด้วยการตรวจเซลล์จากปากมดลูก ... ซึ่งการย้อมดูเซลล์จากปากมดลูกทำได้ไม่ยากและทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของปากมดลูกตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะต้นๆทำให้การรักษาไม่ยากและได้ผลดีมากๆทำได้อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกลดลงอย่างมาก ... การย้อมดูเซลล์ดังกล่าวจึงได้รับการเรียกตามนามสกุลของท่านว่า Pap smear ซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

แม้ท่านได้เสียชีวิตไปนานกว่า 50 ปีแล้ว ... แต่ผลงานของท่านยังมีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับผู้หญิง ... ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือ Pap smear ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและทำเป็นการค้าภายใต้ชื่อต่างๆ เช่น ThinPrep, SurePath, LiquiPrep, CellPrep, และอีกหลายๆยี่ห้อ ... แต่ก็มักจะถูกเรียกว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" เพราะเป็นความคุ้นชินและเป็นการให้เกียรติกับคุณหมอ George N. Papanicolaou

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ยังเป็นปัญหาสุขภาพในระดับสากลที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการรณรงค์ป้องกันและรักษา ...​​ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) กลุ่มความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ... ในอนาคตการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการทำ Pap smear ยังคงน่าจะมีที่ใช้ต่อไป แต่อาจถูกท้าทายด้วยการตรวจหา HPV ก็ได้เพราะการตรวจไวรัสเอชพีวีมีความไวสูงและราคาถูกลงเรื่อยๆ

มีเวลาครั้งต่อไปหมอจะหาโอกาสเขียนในบล็อกนี้เกี่ยวกับ HPV นะครับเพราะ HPV เป็นกลุ่มไวรัสที่ใกล้ตัวทุกคนมากๆและเรียกได้เลยครับว่าเป็นภัยเงียบที่มาแบบนิ่มๆ

ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาอ่านมาจนถึงบันทัดนี้และขอให้รักษาสุขภาพนะครับ

รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น