วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558



การผ่าแผลเล็กผ่านกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Surgery)


วันนี้หมอขอคุยเรื่องผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานของคนไข้ผู้หญิงรายนึงนะครับ ... คนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) และถุงนำ้รังไข่ (Ovarian Cyst) ... ที่ต้องผ่าตัดเพราะมีอาการปวดท้องโดยเฉพาะเวลามีรอบเดือนหรือปวดระดู (Dysmenorrhea) และเลือดออกผิดปกติจากมดลูก ... ตรวจภายในและตรวจอัลตร้าซาวด์พบว่ามีเนื้องอกมดลูกและถุงน้ำรังไข่ซึ่งมีข้อบ่งชี้เข้าข่ายที่สมควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดส่วนใหญ่จะดูที่ขนาดหรือภาวะแทรกซ้อนของก้อนที่ตรวจพบ ... แต่วันนี้หมอจะขอข้ามไปก่อนนะครับว่ารายละเอียดของข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเป็นอย่างไร ...​ วันนี้จะคุยเรื่องการผ่าตัดในช่องท้องส่วนล่าง (Lower abdomen) หรือในอุ้งเชิงกราน (Pelvis) ของคุณผู้หญิงครับว่าปัจจุบันเรานิยมทำผ่าตัดกันอย่างไร
ตัวอย่างตำแหน่งแผลที่เจาะหน้าท้องในการผ่าตัด MIS

การผ่าตัดในช่องท้องหรือในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงในปัจจุบัน ... นิยมทำผ่าตัดแบบแผลเล็กครับ ... ตัวย่อภาษาอังกฤษที่นิยมใช้เรียกการผ่าตัดแบบแผลเล็กคือ MIS ซึ่งย่อมาจากคำเต็มๆว่า Minimal Invasive Surgery ซึ่งถ้าผ่าตัด MIS ในช่องท้องก็มักนิยมเรียกว่า Laparoscopic Surgery ซึ่งก็เป็น MIS ชนิดหนึ่งนั่นเอง ... การผ่าตัดแผลเล็กหรือ MIS ไม่ได้แปลว่าการผ่าตัดเล็กนะครับเพราะใช้ได้ทั้งการผ่าตัดเล็กซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็กๆน้อยๆหรือเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งผ่าตัดได้มากเหมือนการผ่าตัดแผลใหญ่แบบที่ทำกันมาตั้งแต่ในอดีตเพียงแต่แผลเล็กกว่ามากและเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องและจอโทรทัศน์ ...​ ตัวอย่างเช่นคนไข้ที่หมอกล่าวมาเบื้องต้นซึ่งการผ่าตัดที่ทำเป็นการผ่าตัดทั้ง เลาะพังผืดที่ยึดลำใส้ที่มาเกาะติดกับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่นมดลูกและปีกมดลูก ตามด้วยการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูกที่เป็นก้อนเนื้องอกออกมาทั้งหมดผ่านแผลเล็กๆ

รูปภาพตัวอย่างการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง

ในคนไข้ที่กล่าวในเบื้องต้น ..​.​ หมอผ่าตัดโดยเจาะหน้าท้องเป็นแผลเล็กๆขนาดประมาณครึ่งเซ็นติเมตรจำนวนสองแผลทางด้านข้างของช่องท้องส่วนล่างทางซ้ายและขวาและอีกหนึ่งแผลที่สะดือโดยแผลที่สะดือนมีขนาดประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร ...​ แผลในสะดือเมื่อหายแล้วมักจะมองไม่เห็นเพราะซ่อนอยู่ภายในสะดือครับ ... หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการผ่าตัดโดยผ่าตัดผ่านทางกล้องส่องช่องท้องซึ่งภาพที่แพทย์ผู้ผ่าตัดและผู้ช่วยเห็นจะปรากฏอยู่บนจอโทรทรรศน์ ... ในคนไข้รายนี้พบว่ามีพังผืดยึดติดระหว่างลำใส้กับมดลูกมากและมีก้อนเนื้องอกมดลูกและถุงน้ำรังไข่ขนาดประมาณ 8 เซ็นติเมตรและ 4 เซ็นติเมตรตามลำดับ

ตัวอย่างภาพที่เห็นทางจอโทรทัศน์ในการผ่าตัด MIS ในคนไข้ที่มีก้อนเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
ท่านผู้อ่านคงสงสัยนะครับว่า ... แล้วหมอเอาก้อนออกได้ยังไงเพราะก้อนใหญ่กว่าแผลที่เจาะตั้งเยอะ ... คำตอบก็คือ ... หมอผ่าตัดเลาะพังผืดก่อนแล้วจึงทำการตัดมดลูกและปีกมดลูกซึ่งหมายถึงถุงน้ำรังไข่ ... ต่อจากนั้นหมอก็ใส่ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะที่พับแล้วสอดผ่านแผลเล็กๆที่เจาะในเบื้องต้น ... ใส่ถุงพลาสติดเข้าไปไว้ในช่องท้อง ... นำมดลูกและปีกมดลูกที่ตัดมาใส่ในถุงพลาสติก ... ดึงปากถุงมาโผล่ออกตรงแผลที่สะดือ ... หลังจากนั้นก็ใช้มีดและกรรไกรค่อยๆตัดแบ่งย่อยชิ้นเนื้อทั้งหมดออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้วดึงผ่านแผลที่สะดือออกมาทีละชิ้นจนหมด ... วิธีนี้ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Morcellation ครับ ... โดยทั่วไปการผ่าตัดในคนไข้ที่มีบุตรแล้วมักจะนิยมนำชิ้นเนื้อออกทางช่องคลอดครับ ... รายนี้ทำแบบนั้นยากเพราะคนไข้โสดจึงนำชิ้นเนื้อแบ่งออกมาทางแผลที่สะดือแทน

หลังจากนั้นก็ทำการตรวจสอบเรื่องต่างๆเช่น การหยุดเลือด การนับเครื่องมือผ่าตัด ... ซึ่งเมือเรียบร้อยแล้วก็จะทำการเย็บปิดแผลที่เจาะทั้งหมด 

การผ่าตัดแผลเล็กหรือ MIS มีข้อดีหลายอย่างเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ครับ ยกตัวอย่างได้แก่ ... การเจ็บแผลจะน้อยกว่ามาก ... การฟื้นตัวของคนไข้จะเร็วกว่าอย่างชัดเจนโดยคนไข้มักจะอยู่โรงพยาบาลหรือ Admit ไม่นานและกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตแบบปกติได้เร็วกว่า ... การเสียเลือดก็มักจะน้อยกว่า เป็นต้นครับ

อย่างไรก็ตามในการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือ MIS ในบางครั้ง ... อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบแผลใหญ่หากมีความจำเป็น

วันนี้คุยกันแบบสั้นๆนะครับ ...​ ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากเพราะอาจทำให้ผู้อ่านเบื่อซะก่อน ... อย่างน้อยท่านผู้อ่านก็คงได้รู้จักศัพท์ใหม่บางคำ ... ทั้งศัพท์ภาษาไทยและศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ ... เช่นคำว่า ... การผ่าตัดแผลเล็ก ... การผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง ... MIS (Minimal Invasive Surgery) ... และ Laparoscopic Surgery เป็นต้น

ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพและโชคดีนะครับ

รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่










วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บางประเด็นของคุณผู้หญิงเกี่ยวกับห่วงคุมกำเนิด

วันนี้หมอมีคนไข้ชาวจีนมาจากมาเลเซียอายุ 40 ปีเศษ ... มาปรึกษาหมอด้วยเรื่องมีเลือดออกกระปริบกระปรอยจากช่องคลอด ... จากการตรวจภายในพบว่ามีเลือดออกมาจากโพรงมดลูกครับไม่ใช่ออกจากช่องคลอดโดยตรง ... ช่องคลอดเป็นเพียงทางผ่านของเลือดออกมาเท่านั้น 

เนื่องจากต้องคุยผ่านล่ามซึ่งต้องแปลจากภาษาจีนเป็นอังกฤษจึงไม่ได้ประวัติทั้งหมดในเบื้องต้น ... เมื่อซักประวัติโดยละเอียดอีกครั้งจึงรู้ว่าคนไข้ผู้หญิงจีนรายนี้คุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือที่เรียกว่า "ไอยูดี ...  IUD (Intra Uterine Device)" โดยใส่มาจากประเทศจีน ... คนไข้ไม่สามารถบอกถึงรายละเอียดของห่วงได้ว่าเป็นห่วงชนิดใดและไม่ได้รับการสอนเรื่องการดูแลตนเองมาด้วย ... รู้เพียงแพทย์ใส่อะไรไปในโพรงมดลูกเพื่อคุมกำเนิด ... ดูรูป IUD ชนิดต่างๆจากรูปต่อไปนี้



โดยปกติการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงเข้าไปในโพรงมดลูก ... แพทย์จะต้องสอนให้คนไข้ตรวจห่วงด้วยตนเองว่ายังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ ... การตรวจทำได้โดยการคลำสายห่วงด้วยตนเองด้วยการใส่นิ้วมือเข้าไปคลำสายห่วงที่โผล่มาจากปากมดลูก ... ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีการตรวจด้วยตนเองเลย



จากการตรวจภายในในเบื้องต้นหมอเองก็ไม่เห็นว่ามีสายห่วงโผล่ออกมาจากปากมดลูกจึงไม่ทราบว่าห่วงหลุดออกไปแล้วหรือมีการหมุนกลับไปอยู่ในตำแหน่งผิดปกติในโพรงมดลูกหรือทะลุออกจากมดลูกไปอยู่ในช่องท้องแล้ว



เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มาปรึกษาด้วยเรื่องเลือดออกกระปริบกระปรอย ... ห่วงคุมเนิดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการมีเลือดออกกระปริบกระปรอยได้ ... และการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้หญิงอายุช่วงนี้ที่มีเลือดออกกระปริบกระปรอยคือการขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้รู้ว่าเกิดจากโรคร้ายๆเช่นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (CA Endometrium) หรือไม่

หมอจึงได้บอกผู้ป่วยไปว่าควรดูแลรักษาด้วยการขูดมดลูก (Uterine Curettage) ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งการตรวจหาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติและยังอาจใช้เป็นการวินิจฉัยว่ามีห่วงอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ ... แต่ก่อนการขูดมดลูกควรเอ็กเรย์หรือตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ดูก่อนด้วยเพราะอาจเห็นห่วงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประกอบแนวทางในการดูแลรักษา ... คนไข้เข้าใจพอสมควรและขอกลับไปคิดดูก่อนและจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง

ที่หมอคุยมาวันนี้ก็เพียงอยากให้ท่านผู้หญิงที่อ่านได้ทราบบางประเด็นของการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงนะครับ ... จริงๆแล้วเรื่องห่วงคุมกำเนิดมีประเด็นที่น่าคุยกันเยอะแยะเลยเพราะห่วงที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกหรือ IUD มีหลายชนิดและมีทั้งที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิดและใช้เพื่อการรักษาความผิดปกติในโพรงมดลูก ...​ อย่างน้อยก็รู้จักคำว่า IUD (Intra Uterine Device) ก็ยังดีนะครับ

เกือบเที่ยงคืนแล้ว ... พรุ่งนี้หมอมีผ่าตัดมดลูกด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องแต่เช้า ... ขอไปนอนก่อนนะครับ ... หวังว่าบทความสั้นๆนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง ... ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่







วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เนื้องอกรังไข่ชนิดเดอร์มอย (Dermoid cyst) ... เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้

สวัสดีครับคุณผู้หญิงทุกท่าน ... หมอไม่ได้เขียนบล็อกมาหลายวันเพราะไปประชุมที่สุโขทัยมาครับ ... กลับมาทำงานเมื่อสามสี่วันก่อนก็มีงานเข้ามาตลอด ... ทั้งตรวจคนไข้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหรือที่เรียกว่า OPD (Out Patient Department) และผ่าตัดคนไข้ในหรือที่เรียกว่า IPD (In Patient Department) ... วันนี้ทานข้าวเย็นเสร็จแล้วเลยอยากเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆที่อาจมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงไว้อ่านประกอบการดูแลตนเองครับ

วันนี้ตอนเช้าออกตรวจตามปกติ ... มีคนไข้ผู้หญิงรายหนึ่งโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องก้อนที่รังไข่ครับ ... คำถามก็คือเธอไปตรวจร่างกายประจำปีมาซึ่งมีทั้ง ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ และอีกหลายๆอย่าง ... แล้วยังมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างด้วย ... ผลทุกอย่างปกติครับยกเว้นผลการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างซึ่งตรวจพบก้อนบริเวณปีกมดลูกซึ่งแพทย์ผู้อ่านผลรายงานว่าน่าจะเป็นก้อนเนื้องอกของรังไข่ (Ovarian tumor)

รังไข่ (Ovary) ... เป็นอวัยวะสำคัญของคุณผู้หญิงที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ... แม้มีขนาดไม่ใหญ่นักคือมีขนาดเพียงประมาณ 1x2x3 เซ็นติเมตร แต่รังไข่ก็มีหน้าที่สำคัญมากๆคือสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและทำหน้าที่ในการตกไข่ (Ovulation) ทุกรอบเดือนทำให้มีการตั้งครรภ์หากมีการร่วมเพศในช่วงเวลาที่มีการตกไข่ ... แต่รังไข่เองก็อาจเกิดความผิดปกติหรือเป็นโรคได้หลายอย่าง ... โรคของรังไข่มีทั้งที่ดูรูปร่างปกติแต่การทำงานผิดปกติและแบบที่รูปร่างผิดไปจากปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดเป็นก้อนหรือเนื้องอก

เนื้องอกรังไข่อาจเป็นเพียงถุงน้ำเล็กๆที่เรียกว่าซิสต์ (Cyst) ซึ่งมักไม่มีอาการและไม่มีอันตราย ... มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ ... แต่หลายครั้งที่ก้อนเล็กๆของรังไข่นี่แหละครับที่เป็นต้นกำเนิดของมะเร็งซึ่งก็เริ่มต้นจากก้อนเล็กๆที่ไม่มีอาการ ... โตหรือมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีอาการ ... จะไปรู้อีกทีก็เมื่อคลำก้อนได้ทางหน้าท้องซึ่งก็มักมีขนาดเกิน 10 เซ็นติเมตรขึ้นไปแล้ว

คุณผู้หญิงที่โทรฯมาปรึกษารายนี้รายงานว่าไม่มีอาการผิดปกติอะไรนอกจากปวดถ่วงๆท้องน้อยเป็นบางครั้งบางคราว ... แพทย์ผู้ตรวจบอกว่าก้อนที่ตรวจพบจากอัลตร้าซาวด์มีขนาดประมาณ 8 เซ็นติเมตร ... ลักษณะเป็นถุงที่มีทั้งของเหลวและก้อนเนื้ออยู่ภายใน ... แพทย์ผู้ตรวจอัลตร้าซาวด์บอกว่าน่าจะเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีทั้ง ผม ฟัน กระดูก และเยื่อเมือกอยู่ภายใน (ดูรูปประกอบ)


ฟังจากคำอธิบายทางโทรศัพท์ทำให้หมอเองนึกถึงภาพของเนื้องอกรังไข่ที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งครับที่เรียกว่า "เดอร์มอยซิสต์ (Dermoid cyst)" ซึ่งเป็นเนื้องอกรังไข่ที่มักไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งแต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ปวดท้องแบบฉุกเฉินได้จากการบิดขั้ว (Twist) หรือการแตก (Rupture) ของก้อน

เนื่องจากเป็นการคุยปรึกษาทางโทรศัพท์ซึ่งให้รายละเอียดได้ไม่มากนัก ... หมอเลยตอบไปในเบื้องต้นว่าอย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลจนเกินไปเพราะฟังดูแล้วน่าจะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง (มีโอกาสเป็นครับแต่ไม่มากนัก) ... แต่ควรระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบิดขั้วหรือการแตกของก้อน ... ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมหรือกระทบกระเทือนบริเวณช่องท้องแบบแรงๆ และควรมาตรวจยืนยันอีกครั้งเพื่อดูในรายละเอียดและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ... ซึ่งหากเป็นก้อนดังกล่าวจริงอาจรักษาได้โดยการผ่าตัดซึ่งควรทำเสียก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อน ... และหากต้องผ่าตัดก็ไม่ต้องกังวลมากนักเพราะการผ่าตัดในปัจจุบันสามารถทำได้แบบแผลเล็กด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ซึ่งไม่เจ็บมากนัก ฟื้นตัวเร็ว และมีความปลอดภัยสูง

หลังจากคุยในเบื้องต้นเสร็จ ... คุณผู้หญิงที่โทรศัพท์มาก็บอกว่าจะเข้าไปศึกษาต่อในอินเตอร์เน็ตและจะโทรศัพท์มานัดตรวจต่อไป

วันนี้เขียนสั้นๆเพื่อให้รู้จักคำว่าเนื้องอกรังไข่ชนิดเดอร์มอยซิสต์ (Dermoid cyst) ซึ่งพบได้บ่อย ... สำหรับประชาชนทั่วไปอาจฟังแล้วแปลกๆที่ก้อนเนื้องอกรังไข่ชนิดนี้อาจมี ผม ฟัน กระดูก และเนื้อเยื่อของร่างกายอีกหลายอย่างไปรวมกันอยู่ในก้อนเดียวกัน ... อาจฟังดูเหมือนถูกเวทย์มนต์ดำซึ่งไม่เกี่ยวกันเลยครับเพราะเนื้องอกดังกล่าวพบได้ทั่วโลกไม่ว่าจะในชนชาติหรือภาษาใดก็ตาม

ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ
รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ





วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


อาการของเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)



เมื่อวานมีคนไข้มาปรึกษาเรื่องเนื้องอกมดลูกครับ ... คุณผู้หญิงรายนี้ไม่มีอาการอะไรผิดปกติแต่ไปตรวจพบก้อนเนื้องอกที่ตัวมดลูกโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตร้าซาวน์บริเวณช่องท้องส่วนล่างซึ่งเป็นการตรวจร่างกายประจำปีของทางบริษัท ... คำถามของคนไข้รายนี้ที่ถามหมอคือเธอมีก้อนเนื้องอกที่มดลูกแต่ทำไมเธอไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย?

ในเบื้องต้นหมอขอตอบแบบคร่าวๆนะครับว่า ...​ เนื้องอกมดลูกเป็นคำรวมๆซึ่งหมายถึงการมีก้อนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติที่ตัวมดลูกทำให้มดลูกโตกว่าธรรมดา ...​ เนื้องอกมดลูกมีทั้งชนิดที่ผิดปกติแต่ไม่ใช่เนื้อร้ายและชนิดที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง ... วันนี้หมอจะขอพูดเรื่องเนื้องอกมดลูกที่ไม่ใช่มะเร็งนะครับ

เนื้องอกมดลูกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Myoma uteri ครับ ... พบได้บ่อยมาก ... มีทั้งชนิดที่มีอาการและไม่มีอาการครับ ... อาการที่พบและทำให้คนไข้ต้องมาปรึกษาสูตินรีแพทย์มีหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน ปัสสาวะบ่อย ปวดถ่วงท้องน้อย คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย หรือแม้แต่ภาวะการมีบุตรยาก เป็นต้น ...​ แต่อาการที่พบได้บ่อยๆได้แก่ ... อาการที่เลือดระดูหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ (Menorrhagia) และอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มากผิดปกติครับ

ในรายที่มีเลือดระดูออกมามากผิดปกติ (Menorrhagia) ... คนไข้มักจะบอกว่าเลือดที่ออกจะเป็นสีแดงสดๆ ออกเป็นก้อนๆ (ระดูปกติไม่ควรออกเป็นก้อนๆนะครับ) และต้องใช้ผ้าอนามัยจำนวนมากต่อหนึ่งรอบเดือน ... ในรายที่ปล่อยเอาไว้นานแพทย์อาจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซีดหรือโลหิตจาง (Anemia) ร่วมด้วย ... บางรายก็ไม่มีอาการของโลหิตจางเพราะยังเป็นมาไม่นานจึงยังไม่มีภาวะโลหิตจางมากนักในขณะที่บางรายมีอาการแล้วแต่ไม่รู้ว่านั่นเป็นอาการของคนที่มีภาวะซีดหรือโลหิตจาง (หมอเคยมีคนไข้ที่โลหิตจางมากมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ เหนื่อยง่าย ไปเป็นลมที่ยอดเขาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ขณะไปเที่ยวที่นั่น ... โชคไม่ดีเพราะไปมีรอบเดือนที่นั่นพอดีและไปอยู่บนที่สูงซึ่งมีอ๊อกซีเจนต่ำ ... ทำให้เป็นลมคาลานสกีเลยละครับ ... เกิดภาวะฉุกเฉินจนเกือบเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่ก็ยังประคับประคองกันมาได้จนถึงบ้านที่หาดใหญ่ ... ตรวจพบว่ามดลูกโตจนถึงระดับสะดือหรือเท่าคนท้อง 5 เดือน ... ตอนนี้หมอผ่าตัดให้เรียบร้อยหมดปัญหาและไปเที่ยวต่างประเทศได้สบายแล้วครับ)

ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มากผิดปกติ ... อาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการมีระดูและปวดมากจนไม่สามารถระงับได้ด้วยยารับประทาน บางรายต้องใช้ยาฉีด หรือบางรายต้องมาห้องฉุกเฉินเพราะปวดมากจนทนไม่ไหว

ก็มาถึงการตอบคำถามที่หมอโดนถามจากคนไข้แล้วนะครับว่าทำไมบางรายที่มีเนื้องอกมดลูกแต่ไม่มีอาการผิดปกติเลย? ... คำตอบก็คืออาการมักขึ้นกับตำแหน่ง (Site) หรือขนาด (Size) ของก้อนเนื้องอกครับ (ขอให้ดูรูปด้านบนประกอบด้วยจะได้พอนึกตามและเห็นภาพไปด้วยพร้อมกับคำอธิบายของหมอ)


  • ในเรื่องของตำแหน่ง (Site) ของก้อนเนื้องอก ... จากรูปด้านบนทำให้เราแบ่งเนื้องอกมดลูกตามตำแหน่งได้เป็น 3 แบบได้แก่
    • แบบแรกเป็นเนื้องอกแบบที่อยู่นอกโพรงมดลูกซึ่งมักมีขั้ว (pedunculated) ห้อยออกไปนอกตัวมดลูกด้วย ... เนื้องอกแบบนี้มักไม่มีอาการปวด ไม่มีเลือดระดูออกผิดปกติ ... ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องรู้สึกท้องโตหรือคลำพบก้อนได้เองซึ่งก็คือเมื่อก้อนโตมากๆแล้ว (มดลูกขนาดปกติจะไม่สามารถคลำพบได้ทางหน้าท้อง)
    • แบบที่สองเป็นแบบที่อยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก (intramural) ... เนื้องอกแบบนี้ถ้ามีขนาดเล็กๆมักไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย แต่ถ้าขนาดโตขึ้นเรื่อยๆหรือมีจำนวนมาก ก็อาจทำให้มดลูกโตและมีทั้งอาการปวดระดูหรือมีเลือดระดูมามากหรือออกเป็นก้อนๆได้
    • แบบที่สามเป็นแบบที่ก้อนเนื้องอกอยู่ในโพรงมดลูก (intracavitary หรือ submucous) ... เนื้องอกแบบนี้มักมีอาการแม้มีขนาดไม่โตมากก็ตามเพราะตำแหน่งที่อยู่เป็นส่วนที่อยู่ในสุดของมดลูกซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเยื่อบุโพรงมดลูกทำให้เมื่อมีระดูจะมีเลือดระดูออกมากหรือออกนานและมักมีอาการปวดระดูมากเพราะมดลูกจะพยายามบีบไล่เหมือนก้อนเนื้องอกนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ค้างอยู่ในโพรงมดลูก



  • ในเรื่องของขนาด (Size) ของก้อนเนื้องอก ...​​ ไม่ค่อยยากในการเข้าใจนะครับเพราะก้อนยิ่งโตหรือมีจำนวนก้อนหลายก้อน ... ก็จะทำให้มดลูกทั้งหมดโต ... โพรงมดลูกก็กว้างและมดลูกหดรัดตัวไม่ดีทำให้มีเลือดระดูมามาก ... นอกจากนี้มดลูกที่โตอาจจะไปกดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเช่นกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการปวดถ่วงในอุ้งเชิงกรานหรือมีอาการปัสสาวะผิดปกติได้ครับ

ที่หมอเขียนมาทั้งหมดก็เป็นแบบคร่าวๆเกี่ยวกับอาการของเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) นะครับ ... รายละเอียดมีมากกว่านี้อีกเยอะเช่น สาเหตุของเนื้องอก การรักษาด้วยการผ่าตัด ฯลฯ ... หากมีโอกาสหรือมีคำถามมาหมอจะเขียนมาให้อ่านเรื่อยๆนะครับ ... หากท่านผู้อ่านรายใดสนใจประเด็นใดเป็นพิเศษก็ comment มาได้เลยนะครับ


ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนะครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่







วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขูดมดลูก (Uterine curettage)

สวัสดีครับคุณผู้หญิงที่ติดตามอ่านบล็อกของหมอวิรัชอยู่ ... พรุ่งนี้หมอมีคนไข้ขูดมดลูกหนึ่งรายตอนเช้าครับ ... วันนี้เลยอยากเขียนบล็อกเรื่องการขูดมดลูกเพราะคำๆนี้น่าจะเป็นคำที่ใช้กันเป็นประจำจนจะเป็นภาษาชาวบ้านอยู่แล้ว ... โดยทั่วไปที่ใช้ของการขูดมดลูกอาจแบ่งออกได้หลายแบบครับ เช่นแบ่งตามการตั้งครรภ์ว่าเป็นการใช้ในผู้หญิงกลุ่มที่มีการตั้งครรภ์หรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การแบ่งอีกแบบก็คือแบ่งว่าเป็นการทำเพื่อการวินิจฉัยโรคหรือใช้ทำเพื่อเป็นการรักษาโรค ... มาลองคุยกันแบบที่แบ่งว่าที่มีการตั้งครรภ์หรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์นะครับ

กลุ่มที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ... มีตั้งแต่การทำให้แท้งหรือที่เรียกทั่วไปว่า "ทำแท้ง (Abortion)" ไปจนถึงการทำเพื่อรักษาภาวะตกเลือดจากการแท้งบุตรหรือตกเลือดหลังคลอดบุตร ... กลุ่มที่ทำให้แท้งก็มีทั้งแบบที่ผิดกฎหมาย (Illegal abortion) เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ได้ตั้งใจซึ่งมักเกิดปัญหาในการทำแท้งเนื่องจากการทำมักทำกันแบบหลบๆซ่อนๆและทำโดยผู้ที่ไม่ใช่สูตินรีแพทย์จึงมักมีภาวะแทรกซ้อนเช่นการติดเชื้อหรือการตกเลือดตามมาซึ่งหลายๆครั้งอาจรุนแรงถึงเสียชิวิตก็ได้ ... อีกกลุ่มก็คือการทำแท้งเพื่อเป็นการรักษา (Therapeutic abortion) ... ในกรณีนี้แม้แพทย์ผู้ทำไม่อยากทำเพราะเป็นความผิดตามหลักศาสนา ... แต่ก็มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเช่นการยุติการตั้งครรภ์ในสตรีที่เป็นโรคหัวใจบางประเภทซึ่งการตั้งครรภ์อาจทำให้โรคหัวใจกำเริบจนผู้ตั้งครรภ์อาจเสียชีวิตได้ การทำแท้งประเภทหลังนี้อาจรวมถึงกรณีที่พบว่าทารกมีความพิการและไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หลังคลอดด้วย

กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ... กลุ่มนี้ก็แบ่งออกได้เป็นแบบที่ขูดมดลูกเพื่อการวินิจฉัย (Diagnostic uterine curettage) และแบบที่ขูดมดลูกเพื่อการรักษา​ (Therapeutic uterine curettage) ในกลุ่มที่ทำเพื่อการวินิจฉัยเช่นในผู้หญิงที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยทองหรือหลังการหมดระดู (Post-menopause) เพราะในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer) สูง ... ซึ่งการขูดมดลูกในกรณีนี้ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ตั้งแต่ระยะแรกๆทำให้การรักษาโรคมีโอกาสหายขาดสูงมาก ... สำหรับการขูดมดลูกเพื่อเป็นการรักษาส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่มีการตกเลือดบางชนิดซึ่งไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเป็นต้น

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางมุมของเรื่องการขูดมดลูกเท่านั้นนะครับ ... หมออยากจะบอกว่าการขูดมดลูกในปัจจุบันไม่ได้เจ็บไม่ได้มีอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่บางท่านคิดหรือได้ยินมาหรอกครับ ... เพราะการแพทย์ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากทั้งวิธีการทำและเครื่องมือที่ใช้ทำรวมทั้งยาที่ให้เพื่อระงับความรู้สึกด้วยนะครับ ... หากมีข้อบ่งชี้ในการขูดมดลูกไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำเพื่อการวินิจฉัยหรือเพื่อการรักษาหรือในภาวะท่ีตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ก็ตาม ... หมอขอให้ความมั่นใจเลยครับว่าไม่น่ากลัว ไม่เจ็บ และไม่มีอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่บางท่านอาจได้ยินมา ... ทั้งนี้หมอไม่ได้รวมถึงการทำแท้งแบบผิดกฎหมายนะครับเพราะกรณีดังกล่าวนอกจากมีอันตรายสูงแล้วยังเป็นเรื่องที่ผิดหลักของศีลธรรมอีกด้วย

เรื่องที่เขียนมาแม้เป็นเพียงส่วนเล็กๆของเรื่องการขูดมดลูก ...​ แต่ก็หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงทั้งหลายบ้างนะครับ ... ขอให้ทุกท่านโชคดีและรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่


วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประจำเดือนหรือระดู (Menstruation) 

วันนี้ตอนบ่ายสามโมงหมอมีรายการคุยกันผ่านโทรศัพท์กับดีเจโบวี่ผ่านสถานีวิทยุ FM-93 เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงผู้หญิง ... หัวข้อที่คุยคือเรื่อง "ประจำเดือน" หรือ "ระดู" ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Menstruation ซึ่งเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกทับศัพท์แต่เรียกแบบสั้นๆว่า "เมนส์" และใช้กันจนคุ้นและเรียกการมีระดูว่ามีเมนส์... เป็นเรื่องใกล้ตัวมากใช่ไม๊ครับ ... ซึ่งพอโดนถามแล้วตอบไปเรื่อยๆทำให้หมอคิดว่ามาเขียนลงในบล็อกนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง

หากแบ่งผู้หญิงออกตามการมีระดูก็คงแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ วัยก่อนมีระดู วัยมีระดูหรือที่เรียกว่าวัยเจริญพันธุ์ และวัยหมดระดูหรือวัยทองนั่นเอง ... ปกติระดูครั้งแรกในชีวิตผู้หญิงมักจะมีในช่วงอายุ 12-15 ปี ซึ่งอาจเร็วหรือช้ากว่านึ้นิดหน่อยได้นะครับ จะมาสม่ำเสมอทุกประมาณ 21-45 วัน พูดง่ายๆว่ามาทุกเดือนๆละครั้งเลยเรียกว่าประจำเดือนน่ะครับ ... ระดูจะมานานครั้งละประมาณ 2-7 วัน และในผู้หญิงที่ปกติจะมีระดูจนอายุประมาณ 45-55 ปี แล้วระดูจะเริ่มขาดหรือที่เรียกว่าวัยทอง

เมี่อรู้ว่าระดูหรือเมนส์ปกติเป็นอย่างไร ... ก็เลยโดนถามว่าแล้วเมนส์ผิดปกติเช่น มากระปริบกระปรอย มามาก มานาน ปวดเมนส์มาก หรือเมนส์ขาด เกิดจากอะไรได้บ้างและจะรักษาอย่างไร ... นี่ยังไม่รวมเรื่องวัยทองนะครับ​ ... แต่มีเวลาคุยกับดีเจโบวี่ของ FM-93 สั้นๆแค่เพียง 15-20 นาทีเท่านั้น ... ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามเช่นตัวอย่างที่ยกมาได้

จริงๆแล้วเรื่องประจำเดือน ระดู หรือเมนส์มาผิดปกติ ... เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในการสอนนักศึกษาแพทย์เลยนะครับ หากจะคุยกันทั้งหมดคงต้องคุยกันเป็นวันๆหรือเป็นอาทิตย์เลยก็ว่าได้ ... หากท่านผู้อ่านมีคำถามหมอก็คงต้องเลือกถามเป็นเรื่องๆไปไม่สามารถคุยหมดทุกเรื่องได้ ... แม้แต่ในบล็อกนี้ก็คงคุยได้เพียงลักษณะเมนส์ปกติพอเป็นสังเขป ... หากท่านผู้อ่านท่านใดมีคำถามเพิ่มเติม ... หมอรบกวนโทรฯมาถามได้ที่ 1719 ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ ... ต่อถึงหมอวิรัชได้นะครับ

วันนี้ขอจบแค่นี้และขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ. กรุงเทพ-หาดใหญ่

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แป็ปสเมียร์ (Pap smear)

วันนี้หมอถูกคนไข้ถามว่าคำว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" มีที่มาอย่างไร? ... ก็เลยได้เรื่องสั้นๆที่คิดว่ามีประโยชน์และควรรู้มาแชร์ในบล็อกวันนี้ครับ

Pap smear เป็นภาษาอังกฤษที่คนไทยใช้เรียกทับศัพท์กันจนจะกลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว ... ที่มาของคำนี้มาจากนามสกุลของแพทย์ชาวกรีก (Greek) ท่านหนึ่ง ... ชื่อเต็มๆของท่านคือ George N. Papanicolaou ... กรุณาสังเกตนะครับว่านามสกุลคือ Papanicolaou ถูกนำมาเรียกสั้นๆว่า Pap ... คุณหมอท่านนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2505 นะครับ ... ท่านเป็นแพทย์ชาวกรีกที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐอเมริกา ... ท่านได้ค้นพบสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้หญิงทั่วโลกโดยท่านได้เผยแพร่งานวิจัยและค้นพบของท่านในปี พ.ศ. 2846 ว่ามะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะเริ่มต้นด้วยการตรวจเซลล์จากปากมดลูก ... ซึ่งการย้อมดูเซลล์จากปากมดลูกทำได้ไม่ยากและทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของปากมดลูกตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะต้นๆทำให้การรักษาไม่ยากและได้ผลดีมากๆทำได้อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกลดลงอย่างมาก ... การย้อมดูเซลล์ดังกล่าวจึงได้รับการเรียกตามนามสกุลของท่านว่า Pap smear ซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

แม้ท่านได้เสียชีวิตไปนานกว่า 50 ปีแล้ว ... แต่ผลงานของท่านยังมีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับผู้หญิง ... ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือ Pap smear ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและทำเป็นการค้าภายใต้ชื่อต่างๆ เช่น ThinPrep, SurePath, LiquiPrep, CellPrep, และอีกหลายๆยี่ห้อ ... แต่ก็มักจะถูกเรียกว่า "แป็ปสเมียร์ (Pap smear)" เพราะเป็นความคุ้นชินและเป็นการให้เกียรติกับคุณหมอ George N. Papanicolaou

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ยังเป็นปัญหาสุขภาพในระดับสากลที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการรณรงค์ป้องกันและรักษา ...​​ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) กลุ่มความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ... ในอนาคตการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการทำ Pap smear ยังคงน่าจะมีที่ใช้ต่อไป แต่อาจถูกท้าทายด้วยการตรวจหา HPV ก็ได้เพราะการตรวจไวรัสเอชพีวีมีความไวสูงและราคาถูกลงเรื่อยๆ

มีเวลาครั้งต่อไปหมอจะหาโอกาสเขียนในบล็อกนี้เกี่ยวกับ HPV นะครับเพราะ HPV เป็นกลุ่มไวรัสที่ใกล้ตัวทุกคนมากๆและเรียกได้เลยครับว่าเป็นภัยเงียบที่มาแบบนิ่มๆ

ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาอ่านมาจนถึงบันทัดนี้และขอให้รักษาสุขภาพนะครับ

รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่









วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)

บ่ายนี้มีคนไข้มาหาด้วยเรื่องเลือดประจำเดือน (Menstruation) ออกมามากเป็นก้อนๆ เป็นมาเกือบปีแล้ว ตอนมีรอบเดือนก็มักมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ... แค่มองดูก็เห็นว่าหน้าคนไข้ซีดมาก คงเสียเลือดมากและเป็นระยะเวลานาน ... เมื่อตรวจหน้าท้องก็คลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าวสันนิษฐานว่าคือมดลูกที่โตจากการเป็นเนื้องอก ขนาดของมดลูกที่โตเทียบเท่าคนที่ตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือนเศษ ... ตรวจภายในเสร็จเลยส่งไปตรวจเลือด ... ไม่น่าเชื่อเลยครับว่าคนไข้ของหมอรายนี้ทนอยู่ได้ยังไงเพราะผลออกมาพบว่าเลือดจางมากๆ ... มากซะจนบอกได้เลยว่าถ้าเป็นคนทั่วๆไปคงหัวใจวายไปแล้ว ... แต่ที่รายนี้ทนได้เพราะเป็นการเสียเลือดแบบเรื้อรังซึ่งทำให้ร่างกายปรับตัวไปเรื่อยๆ ... แต่ในที่สุดถึงจุดหนึ่งก็ไม่ไหวเพราะมีอาการอ่อนเพลียหน้ามืดและเหนื่อยง่ายกว่าคนอื่นๆเค้า

ตรวจเสร็จคนไข้ถามว่าแล้วจะทำยังไงดีคะ ? ... คำตอบที่เหมาะสมสำหรับคนไข้รายนี้ก็คือผ่าตัดมดลูกออกเพราะมีข้อบ่งชี้ครบทั้งเรื่องขนาดและภาวะแทรกซ้อน โดยมดลูกโตจนมีขนาดโตเกินคนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือนและมีอาการแทรกซ้อนคือมีเลือดออกมากจนมีภาวะโลหิตจาง (Anemia) และเริ่มมีภาวะซีดและมีอาการเหนื่อยเพลียอย่างชัดเจน

ได้อธิบายถึงการผ่าตัดมดลูกในปัจจุบันว่ามีความปลอดภัยสูง ... มีทั้งการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยเปิดแผลใหญ่ตามขนาดของก้อนหรือการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันเพราะคนไข้จะฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย และไม่ค่อยเจ็บแผล แต่ในรายนี้อาจต้องให้เลือดก่อนการผ่าตัดเพราะทิ้งไว้นานจนเลือดจางมากและเสี่ยงต่อการผ่าตัด

หลังการตรวจและให้คำปรึกษาเกือบชั่วโมง ... คนไข้ได้รับความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง รู้สึกสบายใจขึ้นเพราะรู้ว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไรและแจ้งว่าจะติดต่อกลับมาอีกครั้งหลังจากกลับไปปรึกษาทางครอบครัว

วันนี้แม้มีคนไข้ไม่มากนัก ... แต่คนไข้รายล่าสุดที่เป็นเนื้้องอกมดลูกรายนี้ก็น่าสนใจมากเพราะสามารถทนต่อภาวะเลือดจางได้อย่างไม่น่าเชื่อ ... อยากบอกคุณผู้หญิงทั้งหลายนะครับว่าถ้าเลือดประจำเดือนออกมากเป็นก้อนๆ ควรนึกถึงภาวะเนื้องอกมดลูกไว้ด้วยและแนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีภาวะนี้อยู่หรือไม่ ... อย่ารอไปเรื่อยๆและคิดว่าไม่น่าเกิดกับตัวของเรานะครับ

ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้หญิงทุกคนครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ รพ.กรุงเทพ-หาดใหญ่





วันนี้เจอคนไข้มาปรึกษาเรื่องตกขาวคันปากช่องคลอดอีกแล้วครับ ... เป็นเรื่องที่พบบ่อยมากๆ ... ตรวจแล้วก็พบว่าเป็นเชื้อราเจ้าเก่านั่นเองก็เลยบอกไปว่าไม่ต้องกังวลมากนะครับเพราะเชื้อราเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ไม่ลุกลาม และไม่เกี่ยวกับเรื่องมะเร็ง แต่ข้อเสียก็คือมีโอกาสเป็นเรื้อรังหมายถึงเป็นๆหายๆได้บ่อยๆหากไม่รักษาให้ดีตั้งแต่ต้น ... คนไข้ฟังแล้วสบายใจขึ้น ได้รับยาไปกินและไปทา และนัดมาตรวจซ้ำอีกหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งหวังว่าจะหายเหมือนหลายรายที่รักษาไป ... อาทิตย์หน้าผลการรักษาเป็นยังไงจะคุยมาทางบล็อกนี้อีก

ขอให้ทุกคนมีสุขภาพดีนะครับ
รศ.นพ.วิรัช วุฒิภูมิ (สูตินรีแพทย์ รพ.กรุงเทพ-หาดใหญ่)