วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559



*****************************************

HIPEC

HIPEC คืออะไร?



สวัสดีครับท่านผู้อ่านบล็อกเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงที่รักทุกๆท่าน หมอหยุดเขียนบล็อกไประยะหนึ่งเพราะมีงานเข้าเยอะเลยโดยเฉพาะงานเกี่ยวกับการผ่าตัดทางนรีเวชฯซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) ช็อกโกแล็ตซิสต์ (Chocolate cyst) หรือไม่ก็เรื่องก้อนของรังไข่ (Ovarian tumor) ซึ่งหมอก็ได้เขียนเอาไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว... วันนี้หมออยากเล่าเรื่องการรักษาแบบหนึ่งที่ค่อนข้างมีที่ใช้น้อยแต่สามารถช่วยผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้ เรื่องนั้นก็คือเรื่อง HIPEC ครับ

HIPEC หรือที่อ่านว่า "ไฮเป็ก" เป็นชื่อย่อของการรักษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีการกระจายของมะเร็งอยู่ทั่วไปในช่องท้อง ตัวอย่างเช่น มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) และมะเร็งของลำใส้ใหญ่ (Colon cancer) ... HIPEC เป็นชื่อย่อครับ สำหรับชื่อเต็มๆของ HIPEC คือ Hyperthermic Intra-PEritoneal Chemotherapy ครับ

ที่อยากเล่าเรื่องนี้ก็เพราะเมื่อราวเดือนเศษๆที่ผ่านมานี้หมอมีคนไข้มะเร็งรังไข่รายหนึ่งที่ผ่านการผ่าตัดช่องท้องมาแล้ว 5 ครั้ง ..... คนไข้รายนี้มาพบหมอด้วยเรื่องท้องโตและแน่นอึดอัดในช่องท้องมากจนไม่สามารถนอนได้ หายใจก็ไม่สะดวก ทานอาหารก็ไม่ค่อยได้ ได้รับความทุกข์ทรมานมากครับ .....​ การตรวจร่างกายพบว่าคนไข้มีลักษณะซูบผอมมาก มีท้องโตเหมือนคนตั้งครรภ์เกือบครบกำหนด ผลการตรวจ CT scan ที่ช่องท้อง พบว่ามีของเหลวจำนวนมากอยู่ในช่องท้อง .....​ ได้รับการวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าเป็น Pseudomyxoma peritonei หรือภาวะที่มีมูกเหนียวข้นในช่องท้องจำนวนมาก ซึ่งมูกเหนียวข้นจำนวนมากนี้จะกระจายอยู่เต็มช่องท้องตั้งแต่เหนือตับลงมาถึงกระเพาะอาหาร ลำใส้เล็กและลำใส้ใหญ่ ไล่ลงมาจนถึงช่องท้องส่วนล่างได้เแก่รอบๆกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะทั้งหลายในอุ้งเชิงกราน

ภาพ CT scan ของช่องท้อง แสดงถึงภาวะที่มีมูกเหนียวข้นอยู่เต็มช่องท้อง


ภาพมูกเหนียวข้นที่พบในผู้ป่วย Pseudomyxoma Peritonei

มูกเหนียวข้นในภาวะ Pseudomyxoma peritonei นี้ไม่สามารถเจาะดูดออกมาได้หรอกครับเพราะมีความเหนียวข้นมาก ทำให้คนไข้มีท้องโตขึ้นเรื่อยๆและจะแน่นท้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ..... ที่ผ่านมาการผ่าตัดรักษาในภาวะดังกล่าวทำได้ยากมากและมีอันตรายสูง ..... ทำให้การรักษาที่ทำกันมาก่อนหน้านี้มักเป็นการรักษาแค่ตามอาการเท่านั้น .....​ คนไข้จะค่อยๆขาดอาหารและผอมลงอย่างมากในขณะที่ท้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ..... ในที่สุดก็จะเสียชีวิตลงท่ามกลางความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง

มูกเหนียวข้นที่ติดอยู่ตามผนังช่องท้อง ผิวนอกของตับ ลำใส้ และอวัยวะต่างๆในช่องท้อง


ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในระดับสากล .....​ มีกลุ่มศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้คิดค้นและเริ่มต้นทำการรักษาผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากภาวะดังกล่าวด้วยการผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคนคือพยายามผ่าตัดเลาะเอาก้อนเนื้องอกหรือมูกเหนียวข้นดังกล่าวออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หรือที่ศัพท์ในการผ่าตัดทางการแพทย์เรียกว่า CRS (Cyto-Reductive Surgery) ร่วมกับการให้ ยาเคมีบำบัดร้อน (Heated Chemotherapy) เข้าไปโดยตรงในช่องท้องทันทีหลังการทำ CRS ...... การให้ยาเคมีบำบัดร้อนเข้าไปโดยตรงในช่องท้องเพื่อให้ยาได้สัมผัสโดยตรงกับรอยโรคนี่แหละครับที่เรียกกันว่า HIPEC ซึ่งจะทำร่วมกับ CRS


ในกรณีของผู้ป่วยที่หมอเล่ามาในเบื้องต้น .....​ หลังจากที่หมอได้ให้คำปรึกษาและให้รายละเอียดเรื่อง CRS + HIPEC ไปกับผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวทั้งในแง่ของประโยชน์ที่ได้รับ ความยากของการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายได้หลายอย่างเช่น การตกเลือด การบาดเจ็บต่ออวัยวะต่างๆในช่องท้อง หรือแม้แต่อันตรายที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต

ภาพแสดงแนวการผ่าตัดเปิดหน้าท้องในการผ่าตัดแบบ CRS

ภาพแสดงขณะที่แพทย์กำลังผ่าตัดมูกเหนียวข้นออกจากช่องท้องในการผ่าตัดแบบ CRS


ภาพแสดงการใส่สายยางเพื่อให้ยาเคมีบำบัดร้อนเข้าและออกจากช่องท้องในการทำ HIPEC

ในที่สุด ..... เมื่อสัปดาห์เศษๆที่ผ่านมาผู้ป่วยและครอบครัวก็ได้ตัดสินใจขอเข้ารับการรักษาตามที่หมอแนะนำคือ การทำผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคนตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร้อนเข้าในช่องท้อง (CRS + HIPEC) ..... หมอเองในฐานะแพทย์ผ่าตัดทางมะเร็งนรีเวชฯจึงได้ทำการเตรียมการรักษาโดยเริ่มด้วยการผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรม ..... ใช้เวลาในการทำผ่าตัดประมาณ 7 ชั่วโมง โดยเป็นการผ่าตัด CRS นานประมาณ 5 ชั่วโมงเศษ และในการทำ HIPEC อีกประมาณ 2 ชั่วโมง ..... พบว่าการผ่าตัด CRS ครั้งนี้สามารถผ่าเอามูกเหนียวข้นออกจากช่องท้องได้มากถึงประมาณ 6,000 มิลลิลิตรหรือ 6 ลิตร และผ่าตัดชิ้นเนื้ออันประกอบด้วย เยื่อบุช่องท้อง เยือหุ้มตับ และลำใส้บางส่วนที่สูญเสียการทำงานเพราะมีมูกจำนวนมากไปเกาะอยู่อย่างเหนียวแน่น รวมเป็นเนื้อเยื่อที่ตัดออกมาอีกไม่รวมมูกเหนียวมีนำ้หนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม ..... การผ่าตัดครั้งนี้มีการนำลำใส้มาเปิดเป็นทวารเทียมไว้ด้วย ..... ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจเพราะคาดว่าสามารถผ่าตัดรอยโรคออกมาได้ประมาณ 95% ..... หลังการผ่าตัด CRS ได้มีการวางสายยางไว้เป็นทางเข้าและออกของยาเคมีบำบัดแล้วจึงเย็บปิดหน้าท้องและได้ทำการรักษาต่อทันทีด้วยการทำ HIPEC หรือยาเคมีบำบัดร้อนที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 42 องศาเซลเซียส โดยให้ยาวนผ่านเข้าออกในช่องท้องอีกนานประมาณ 90 นาที ..... หลังผ่าตัดผู้ป่วยในรับการดูแลต่อใน ICU หรือห้องผู้ป่วยอาการหนักอีกหนึ่งวันแล้วย้ายออกมาดูแลได้ในห้องพักตามปกติ

นับถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์เศษ ..... ผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีไข้ เริ่มทานอาหารอ่อนได้ ปัสสาวะได้เอง สามารถนอนหลับได้โดยไม่มีอาการแน่นท้อง ทวารเทียมทำงานได้ดี รอการดูแลต่อไปซึ่งคาดว่าน่าจะกลับบ้านได้ในไม่นานนี้

ที่เล่ามาทั้งหมดก็เป็นเพียงแบบคร่าวๆและก็เป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นานนี้เองนะครับ ..... ยังคงต้องรอดูผลการรักษาในระยะยาวกันอีกต่อไปครับ ..... เรื่อง CRS และ HIPEC แม้พบไม่บ่อยแต่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนใหนก็ได้ ..... หมอหวังว่าอย่างน้อยท่านผู้อ่านก็คงพอได้รู้จักคำว่า CRS และ HIPEC บ้างในระดับหนึ่ง .....​ ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสพบผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทรมานในทำนองนี้ จะได้พอมีคำแนะนำให้เขาเหล่านั้นได้บ้างหรืออาจแนะนำให้โทรศัพท์มาถามหมอได้โดยตรงครับ

หมอขอจบเรื่องเล่าวันนี้ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ .....​ ขอให้ท่านผู้อ่านบล็อกเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงทุกท่านโชคดีและมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง .....​ สวัสดีครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
mobile: 089-733-1170

******************************************************

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559





มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)


ช่องท้องส่วนล่างของคุณผู้หญิงที่อาจเกิดความผิดปกติหรือโรคอะไรได้หลายอย่างรวมทั้งมะเร็งรังไข่


วันนี้หมอออกตรวจคนไข้ตามปกติครับ ... มีทั้งคนไข้ที่เข้ามาตรวจร่างกายเพราะมีปัญหาเรื่องระบบภายในของคุณผู้หญิงและทั้งที่ไม่มีปัญหาอะไรรีบด่วน ...​ แต่มาเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งของผู้หญิง ... ซึ่งโรคมะเร็งที่ทำให้เกิดความกังวลมีหลายชนิดโดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับมะเร็งของรังไข่ ... เรื่องมะเร็งรังไข่นี่ต้องบอกว่าฮอทฮิตมากในระยะนี้ ... มีทั้งคุณผู้หญิงที่มาตรวจที่โรงพยาบาลโดยตรงและที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาเลยละครับ

หมอกลับมาบ้านเลยมานั่งคิดดูว่าทำไมคนไข้ผู้หญิงหลายคนสนใจเรื่องมะเร็งรังไข่ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบบ่อยนัก ... ถ้าจะพูดถึงมะเร็งในผู้หญิงไทยที่พบบ่อย 5 อันดับแรกเรียงจากมากไปหาน้อยก็ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อนำ้ดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำใส้ใหญ่ตามลำดับครับ ... แต่วันนี้กลับมีแต่เรื่องมะเร็งรังไข่มาปรึกษา ... ทำให้หมอรู้สึกว่าคงต้องเขียนบล็อกมาคุยกันหน่อยครับ

เดือนมีนาคมถือเป็นเดือนแห่งการระมัดระวังเรื่องมะเร็งรังไข่


เหตุผลที่พอจะอธิบายได้ว่าทำไมมะเร็งรังไข่เป็นเรื่องฮอทฮิตติดอันดับก็คงเป็นเพราะมีเหตุการณ์สดๆร้อนๆสองเหตุการณ์มาประจวบเหมาะในระยะนี้พอดีกันน่ะครับ ... เหตุการณ์แรกก็คือเรื่องข่าวที่ดาราภาพยนตร์สตรีที่เป็นขวัญใจชาวไทยท่านหนึ่งที่หายไปจากวงการระยะหนึ่งและเพิ่งออกมาเปิดเผยตัวเองว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ... ดาราขวัญใจท่านนี้ได้เข้ารับการผ่าตัดร่วมกับการใช้เคมีบำบัดหรือที่ชาวบ้านทั่วๆไปเรียกกันว่าไปทำคีโมมาระยะหนึ่ง ... ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะครบกำหนดการให้คีโมแล้ว ... เหตุการณ์ที่สองก็คือเรื่องที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกแพ้คดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและต้องจ่ายเงินให้คู่ความสูงมากถึงประมาณ 2,500 ล้านบาท ... หลายท่านคงพอทราบนะครับว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องแป้งฝุ่นทาตัวยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งกับการเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เป็นมะเร็งรังไข่ของคุณผู้หญิงที่ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แป้งดังกล่าวทาในบริเวณที่ลับ

ภาพใน Social media ที่เตือนให้ระวังเรื่องมะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) และการใช้แป้งฝุ่น

เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นในระะยะเดียวกันและได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่องใน social media แทบจะเรียกว่าทุกประเภทเลยละครับ ... มองในแง่บวกก็คือทำให้มีการตื่นตัวกันอย่างมากโดยเฉพาะในคุณผู้หญิง ... ทำให้มีการหาทางป้องกันตัวเองจากมะเร็งรังไข่เพราะรู้สึกว่าเป็นภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ... หมอเองในฐานะที่พอมีความรู้ความชำนาญด้านมะเร็งของคุณผู้หญิงหรือมะเร็งนรีเวชฯก็เลยอยากจะเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสถานการณ์มะเร็งในประเทศไทยโดยเฉพาะเกล็ดเล็กๆน้อยๆเรื่องมะเร็งรังไข่มาให้อ่านกันบ้างเผื่อจะมีประโยชน์อะไรไม่มากก็น้อยครับ

เรื่องสถานการณ์มะเร็งในประเทศไทย ... เรื่องนี้หมอขออ้างถึงข้อมูลจากนายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยของเราครับ ... ข้อมูลดังกล่าวหากรู้แล้วน่ามีประโยชน์มากครับเพราะจะทำให้เราตระหนักถึงสถาณการณ์มะเร็งในประเทศไทยในปัจจุบันว่าเป็นเช่นไร ...  ตามข้อมูลพบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งในประชาชนชาวไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ...​ มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหญิงชายรวมกันมากกว่า 120,000 คนต่อปี ... และที่สำคัญก็คือโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชาชนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันหรือมากกว่าสิบปีติดต่อกันมาแล้วเลยละครับ ... ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าโรคมะเร็งมาแรงแซงทางโค้งมาโดยตลอด ... มาแรงแซงการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆเช่นการเสียชีวิตจาก โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือแม้แต่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเสียอีกและมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆครับ

ตำแหน่งของรังไข่ (Ovary) อยู่ที่ด้านซ้ายและขวาของมดลูก (Uterus)

มาเข้าเรื่อง "มะเร็งรังไข่" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ovarian cancer กันเลยดีกว่าครับ ... รังไข่ของคุณผู้หญิงเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนล่างหรือที่เรียกกันทั่วๆไปว่าปีกมดลูกน่ะครับ ... รังไข่ของผู้หญิงมีขนาดประมาณ 3 เซ็นติเมตร มีสองข้างคือข้างซ้ายและข้างขวา ... รังไข่ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงและผลิตไข่ซึ่งเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะมีการตกไข่เดือนละครั้ง ...​ หากมีการร่วมเพศในระยะไข่สุกก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมาลืมตาดูโลกอย่างพวกเราทุกคน ... สรุปก็คือรังไข่เป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิตของมนุษย์เราเลยนะครับ

แต่รังไข่เองก็เหมือนอวัยวะอื่นๆของมนุษยน่ะครับซึ่งแม้จะมีประโยชน์อย่างมากแต่ก็มีโอกาสเกิดความผิดปกติกลายเป็นมะเร็งได้ ... มะเร็งรังไข่มีหลายชนิดครับแต่ชนิดที่เจอบ่อยได้แก่ชนิดที่เกิดจากเยื่อบุผิวของรังไข่ (Epithelial Ovarian Cancer) ซึ่งก็คือชนิดที่เป็นข่าวครึกโครมทั้งสองเหตุการณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นนั่นแหละครับ

ภาพแสดงรังไข่ข้างขวาที่ปกติและข้างซ้ายที่เป็นเนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor)

แม้มะเร็งรังไข่จะไม่ได้พบบ่อยจนติดใน 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย ... แต่ถ้าพูดกันเฉพาะกลุ่มมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีก็ต้องถือว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในระบบนี้ของคุณผู้หญิงเลยนะครับ ... ถ้าจะเป็นรองก็เป็นรองแต่เฉพาะมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น ... ปัญหาที่น่านำมาคุยกันและฟังดูน่ากลัวก็คือมะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่มักตรวจพบได้เมื่อมีการลุกลามไปมากแล้วทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี ... แม้พบไม่บ่อยแต่พบทีไรก็มักสายไปแล้ว ... พบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆของมะเร็งที่เกิดจากอวัยวะสืบพันธุ์สตรีดังกล่าวแล้ว ... ยิ่งพอมีเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ที่กล่าวในข้างต้นใน Social media เลยทำให้มีการตื่นตัวและกล่าวถึงมะเร็งชนิดนี้กันอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง

เรื่องมะเร็งรังไข่ ... หมออยากจะให้คุณผู้หญิงที่ติดตามบล็อกเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงทุกท่านระวังแต่อย่าระแวงนะครับ ... เป็นความจริงที่ว่านอกจากมะเร็งรังไข่จะเป็นโรคที่ไม่มีอาการในระยะที่เริ่มเป็นแล้ว ... การตรวจคัดกรองก็ยังไม่ได้ผลดีเหมือนการตรวจคัดกรองของมะเร็งปากมดลูก ... ทำให้เมื่อเริ่มมีอาการและตรวจพบโรคก็มักเป็นไปมากแล้วซึ่งการรักษามักจะไม่ได้ผลดีและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆดังกล่าว ... แต่ก็จะไม่ใช่จะหมดหวังไปซะทีเดียวเลยนะครับเพราะความรู้จากงานวิจัยและความเจริญทางเทคโนโลยี่ในปัจจุบันทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่มากยิ่งขึ้นเช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การไม่ตั้งครรภ์ สูงอายุ น้ำหนักมากหรืออ้วน เป็นต้น ... ทำให้พอมีโอกาสที่จะป้องกันหรือตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่โรคยังไม่ลุกลามไปมากและการรักษาได้ผลดีขึ้นหรือแม้แต่มีโอกาสหายขาดได้หรือไม่ก็ทำให้มีอัตราการอยู่รอดชีวิตสูงมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

รูปมะเร็งรังไข่ที่มักตรวจพบหรือมีอาการก็ต่อเมื่อโรคมีการลุกลามหรือเป็นไปมากแล้ว

เรื่องการป้องกันมะเร็งรังไข่ ... อาจเริ่มจากการดูความเสี่ยงจากประวัติการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งในครอบครัวหรือเรื่องพันธุกรรมครับ ... เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากเรื่องของคุณ Angelina Jolie ซึ่งเป็น super star ในระดับโลก ... ในครอบครัวของเธอมีประวัติการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งหลายคนโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ... ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดเป็นมะเร็งมีความสัมพันธ์กับเรื่องพันธุกรรมโดยเฉพาะพันธุกรรมที่เรียกว่า BRCA ที่มีการผ่าเหล่า (BRCA mutation) ... ทำให้เธอป้องกันตัวเองจากการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้โดยการให้แพทย์ตัดเต้านมและรังไข่ทิ้งหลังจากที่ตรวจทางพันธุกรรมพบว่ามีความเสี่ยงสูง ... ซึ่งข่าวของคุณ Angelina Jolie เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกสามารถศึกษาหรือหาอ่านได้จาก social media ทั่วไปนะครับ


Angelina Jolie สตรีผู้ปลุกให้เกิดการตื่นตัวในการป้องกันมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในระดับสากล
ภาพจำลองสายพันธุกรรมของมนุษย์ที่เป็นตัวควบคุมการทำงานทุกอย่างของร่างกาย

นอกจากการดูเรื่องพันธุกรรมแล้ว ... การป้องกันมะเร็งรังไข่ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะการเจริญพันธุ์อีกด้วย ... พบว่าการตั้งครรภ์และการกินยาคุมกำเนิดก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ในระดับหนึ่ง คนโสดหรือไม่มีบุตรจึงเสี่ยงกว่าคนที่มีบุตรครับ

ภาพแสดงถึงยาคุมกำเนิด (Pill) ที่มีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดของมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)


ภาวะนำ้หนักเกินหรืออ้วน (Obesity) ก็เป็นความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่และมะเร็งอีกหลายอย่าง จึงสมควรป้องกันโดยควบคุมนำ้หนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ภาพแสดงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลายชนิดจากความอ้วน (สัญญลักษณโบว์สีต่างๆแทนมะเร็งแต่ละชนิด)


ภาวะสูงวัยก็เป็นภาวะเสี่ยงของมะเร็งรังไข่และมะเร็งอีกหลายชนิดเช่นกัน ... จึงสมควรตรวจคัดกรองมะเร็งตามระยะที่เหมาะสมเมื่อมีอายุมากขึ้น

นอกจากการป้องกันโดยการดูความเสี่ยงทางพันธุกรรม การเจริญพันธุ์ น้ำหนัก และอายุแล้ว ... การตรวจคัดกรองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่อย่างมากทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยสิ่งต่างๆได้รวดเร็วและแม่นยำ เช่น ... การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic test) เช่นที่ทำในกรณีของคุณ Angelina Jolie เป็นต้น ... ในอดีตการตรวจทางพันธุกรรมไม่มีบริการในประเทศไทยแต่ปัจจุบันเริ่มมีบริการแล้วนะครับ ... การตรวจคัดกรองด้วยการตรวจภายใน (Pelvic examination) ร่วมกับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวน์บริเวณช่องท้องส่วนล่าง (Pelvic ultrasound) ก็เป็นการตรวจอีกอย่างที่อาจทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของรังไข่ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ... นอกจากนี้การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ของรังไข่บางอย่าง เช่นการตรวจเลือดวัดระดับ CA125, HE4 ก็เป็นการตรวจที่มีประโยชน์และเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างภาพจาก Social media ที่แสดงถึงการการตรวจชนิดต่างๆเช่น CA125, HE4

หากใช้การตรวจคัดกรองที่กล่าวมา ... เสริมกับการดูแลตนเองในเรื่อง อาหาร การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพจิตด้วยแล้ว ... หมอเองเชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการป้องกันหรือต่อสู้กับโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างดีเลยนะครับ

เขียนมาถึงตอนนี้แล้วก็คงต้องขอจบเรื่องมะเร็งรังไข่ไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ... ข้อมูลที่เขียนอาจไม่ได้ลงลึกในทุกประเด็นแต่ก็คงจะพอเป็นตัวกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพทั้งหลายได้รับความรู้เพื่อไปใช้ประกอบในการดูแลสุขภาพของตัวเองบ้างนะครับ ... หากมีโอกาสหมอจะเขียนเกล็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคุณผู้หญิงมาให้อ่านกันใหม่ ... ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจนะครับ




รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์​ (มะเร็งวิทยานรีเวช)
โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่














วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559


ตรวจพบว่าติดเชื้อ เอชพีวี (HPV) แลัวจะทำอะไรต่อดี ?






วันนี้แม้หมอจะไม่ค่อยมีเวลามากนักเพราะผ่าตัดเกือบทั้งวัน ... แต่ก็อยากจะเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆที่อาจมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงไว้เป็นความรู้หน่อยนะครับ ...​ เพราะวันนี้เป็นวันสำคัญระดับโลกเลย ... ที่ว่าเป็นวันสำคัญเพราะ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเขายกให้เป็น "วันมะเร็งโลก" ครับ



เรื่องที่จะเขียนเป็นเรื่องที่หมอเพิ่งถูกถามมาทางไลน์วันนี้เองครับว่า ... ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ Human Papilloma Virus) ... ควรจะทำอะไรต่อดี (คุณผู้หญิงที่ถามมาอายุ 32 ปี แต่งงานแล้ว แต่ยังไม่มีบุตร)



ตัวอย่างรูปไวรัสเอชพีวีมีกลุ่มเสี่ยงสูง


เป็นคำถามที่ทันสมัยมากเลยครับเพราะคุณผู้หญิงในยุคปัจจุบันหรือในยุคดิจิตอลนี่รู้จักดูแลตัวเองดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนนี้มากเลยครับ ... รู้ว่า มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นดับแรกๆของผู้หญิง ... เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ... มีระยะก่อนมะเร็ง (Pre-cancerous lesion หรือที่เรียกย่อๆว่า CIN) นำมาก่อนเป็นมะเร็งหลายปี ... การรักษาระยะก่อนมะเร็งทำได้ง่ายและได้ผลดีทำให้ไม่กลายเป็นมะเร็ง ... คำถามอยู่ที่ว่าการตรวจหาระยะก่อนมะเร็ง (CIN) ทำได้อย่างไรเท่านั้นเอง

รูปปากมดลูกระยะก่อนมะเร็ง (CIN)

คำตอบว่าจะตรวจหาระยะก่อนมะเร็งหรือ CIN ได้อย่างไร? ... เป็นคำตอบที่ไม่ยากว่าจะตรวจได้อย่างไรเพราะเป็นการตรวจที่นิยมทำกันอยู่เป็นปกติเป็นประจำปีละครั้งอยู่แล้วก็คือการตรวจที่เรียกว่า Pap smear ซึ่งก็คือการตรวจหาเซลล์ผิดปกติจากปากมดลูก ... แต่การตรวจ Pap smear แบบที่ทำกันอยู่ทั่วๆไปมักมีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติต่ำ ทำให้อาจตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติทั้งๆที่มีระยะก่อนมะเร็งหรือ CIN เกิดขึ้นแล้ว



จากปัญหาเรื่องความไวในการตรวจ Pap smear แบบทั่วๆไปต่ำดังที่ได้กล่าวแล้ว ...​ ร่วมกับความรู้ที่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ... ทำให้ในปัจจุบันมีการตรวจหาไวรัสเอชพีวีพร้อมๆกับการตรวจหาเซลล์ผิดปกติไปเลยหรือที่เรียกว่า Co-testing หรือ Combined testing ... HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ครับแต่ที่นิยมตรวจมีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ เรียกกลุ่มนี้รวมๆกันว่าไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูง (High-risk HPV) ...​ พบว่าการตรวจ Co-testing เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆครบ ... สาเหตุเพราะ ตรวจง่าย มีความไวและความจำเพาะในการตรวจพบความผิดปกติสูง ซึ่งเมื่อมีการตรวจบ่อยขึ้นราคาก็ถูกลงหรือลดลงกว่าเดิมมาก ... หมอเองอยากจะบอกไว้ก่อนนะครับว่าการตรวจ Co-testing แนะนำให้ทำในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เพราะในกลุ่มอายุต่ำกว่านี้อาจตรวจพบการติดเชื้อได้บ่อยแต่ก็มีโอกาสหายด้วยภูมิต้านทานของตัวเองได้ ... ตรวจเจอตั้งแต่อายุน้อยๆเดี๋ยวจะเครียดเกินความจำเป็นครับ


จากที่หมอเล่ามาในเบื้องต้นเลยเป็นที่มาของคำถามที่หมอถูกถามมาทางไลน์วันนี้ครับว่า "ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ... ควรจะทำอะไรต่อดี?

คำตอบที่หมอตอบไปวันนี้สำหรับคุณผู้หญิงที่ไลน์ถามมาก็คือคำตอบสำหรับคุณผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงน่ะครับ ... คำตอบคือมีทางเลือก 2 ทางครับ ... ทางแรกคือรอตรวจ Co-testing ซ้ำอีกครั้งในอีก 1 ปี ... ทางเลือกที่สองคือการส่งตรวจแยกสายพันธุ์ (Genotyping) ของไวรัสเอชพีวีที่ตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ 16 (HPV-16) หรือสายพันธุ์ที่ 18 (HPV-18) หรือไม่ ... วิธีทั้งสองนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทั้งคู่ครับ ... แต่ตัวหมอเองนิยมวิธีที่สองมากกว่าวิธีแรกครับ ... สาเหตุเพราะในกลุ่มไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ (HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66, 68) พบว่า HPV-16 และ HPV-18 เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดและเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 70% ... ทำให้ในกรณีที่ตรวจ Co-testing ที่แม้จะตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่ตรวจพบ HPV-16,18 ก็แนะนำให้ตรวจต่อด้วยการส่องกล้องตรวจปากมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอดหรือที่เรียกว่า "คอลโปสโคป (Colposcope)" ไปเลยครับโดยไม่ควรรอ ... แต่ในกรณีที่ตรวจแยกสายพันธุ์แล้วไม่ใช่ HPV-16,18 ก็สามารถรอตรวจ Co-testing ซ้ำได้ที่ 1 ปีครับเพราะแม้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ก็เสี่ยงน้อยกว่า HPV-16,18 มาก

การส่องกล้องตรวจปากมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอด (Colposcope)


วันนี้หมอขอตอบแค่สั้นๆแค่นี้ก่อนนะครับ ... คำถามที่ถามมาว่า ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ควรทำอะไรต่อดี ? ...​ ไม่ว่าจะรอตรวจอีกหนึ่งปีหรือส่งตรวจ Genotyping ว่ามี HPV-16,18 หรือไม่ก็เป็นที่ยอมรับทั้งสองวิธี ... ส่วนคำตอบว่าถ้าเลือกวิธีไหนแล้วผลออกมาเป็นอย่างไรและจะทำอะไรต่อดี ... ก็ถามมาได้นะครับหมอจะตอบเป็นตอนๆไปจะได้อ่านแบบสั้นๆตอนเดียวจบไม่เบื่อซะก่อน

เนื่องในโอกาสวันมะเร็งโรคนี้หมอขออวยพรให้คุณผู้หญิงทุกท่านโชคดี มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากโรคมะเร็งนะครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช
โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่









วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559


มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)

Model ของมดลูกและปีกมดลูกของผู้หญิงที่อาจเกิดโรคหรือความผิดปกติเช่นมะเร็งได้


หมอไม่ได้เขียนบล็อกเรื่องของผู้หญิงผู้หญิงมาซะระยะหนึ่งครับเพราะงานเข้าตลอด ...​ วันนี้ยังไงก็ต้องเขียนอะไรบ้างเกี่ยวกับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) เพื่อเตือนสมาชิกในบล็อกของเรามั่งแล้วละครับสาเหตุเพราะหมอเจอผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ถึงสองรายซ้อนๆกันในเวลาเพียงสองสามวันและทั้งสองรายก็มาพบหมอในระยะที่โรคลุกลามไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปโรคนี้มักพบได้ทั้งในระยะก่อนจะเป็นมะเร็งหรือเพิ่งเริ่มเป็นใหม่ครับ
รูปภาพแสดงมดลูกที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรกๆ


อย่างที่เคยคุยๆกันไปมั่งแล้วนะครับว่ามะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงคือมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) และมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) ... มะเร็งทั้งสองชนิดก็ยังพบบ่อยอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละครับแต่ยังดีที่มีการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งระยะต้นๆ การคัดกรองดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่การทำ Mammogram เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม และการตรวจ Pap smear เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ...​ การตรวจคัดกรองดังกล่าวช่วยค้นหาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและนอกจากรักษาง่ายแล้วการรักษายังได้ผลดีมาก ...​ แต่ในผู้หญิงยังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยขึ้นเรื่อยๆคือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยใกล้หมดหรือวัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่าในวัยทองน่ะครับ

ในสหรัฐเมริกา ... มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่กล่าวถึงพบได้บ่อยกว่ามะเร็งปากมดลูกซะอีกครับ สาเหตุไม่รู้แน่ชัดแต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเรา (Life style) ที่เปลี่ยนจากวิถีชีวิตแบบคนในประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนา (Developing country) ไปสู่แบบวิถีชีวิตแบบคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed country)​ นอกจากนี้มะเร็งชนิดนี้ยังมีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วยครับ

ภาพแสดงถึงมดลูกที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบที่มีการลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อมดลูกแล้ว

ในประเทศที่ยิ่งด้อยพัฒนาเท่าไหร่ก็มักจะพบมะเร็งปากมดลูกเยอะขึ้นเท่านั้น ... แต่ในขณะที่ประเทศที่ยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งจะพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้มากขึ้นเท่านั้น ...​ ก็ไม่แปลกนะครับที่ประเทศไทยของเราซึ่งกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆจะพบโรคนี้บ่อยยิ่งขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือโรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุหรือผู้หญิงในวัยทองซึ่งประเทศไทยของเราก็กำลังจะเป็นประเทศหนึ่งที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ... โรคนี้เลยพบมากขึ้นเรื่อยๆ

เข้าประเด็นที่จะคุยกันเลยนะครับ ... สัปดาห์ที่ผ่านมานี้หมอมีคนไข้ผู้หญิงสองคนครับมาพบด้วยเรื่องเดียวกันคือเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดหรือจริงๆก็คือออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ...​ ทั้งสองรายอยู่ในวัยทองหรือวัยหลังหมดประจำเดือนแล้วครับ ...​ อยู่ดีๆก็มีเลือดออกมาอีกซึ่งอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์เลยเพื่อหาสาเหตุ ... รายแรกไปพบแพทย์แต่ก็ไม่ได้มีการรักษาต่อเป็นเวลาเกือบปีทั้งๆที่ยังมีเลือดออกๆหยุดๆอยู่ตลอดจนญาติต้องพามาปรึกษาและได้รับการวินิจฉัยได้ไม่ยากนักจากการขูดมดลูกที่ผลการขูดพบว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer) ซึ่งพอหมอรู้ก็รีบรักษาเลยครับด้วยการผ่าตัดมดลูก ปีกมดลูก (TAH + BSO) และผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lmyph Nodes Dissection) ... รายที่สองมาแบบฉุกเฉินครับเพราะเลือดออกมากจนต้องเข้าหอผู้ป่วยอาการหนักหรือ ICU เพราะเสียเลือดมาก ... รายที่สองก็ได้รับการผ่าตัดแบบเดียวกับรายแรกไปเรียบร้อยแล้วซึ่งก็โชคดีที่การผ่าตัดซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ผ่านไปได้อย่างเรียบร้อย (รายแรกผ่าตัดใหญ่แบบแผลเล็กโดยการผ่าตัดส่องกล้องผ่านหน้าท้อง รายที่สองผ่าตัดแบบแผลใหญ่เพราะมาแบบฉุกเฉินกว่ารายแรก)

ในขณะท่ีหมอเขียนบล็อกนี้ ... ผลชิ้นเนื้อของผู้ป่วยทั้งสองรายยังไม่มีรายงานออกมาเป็นทางการ ... แต่จากการดูด้วยตาเปล่าจากสิ่งที่ตรวจพบขณะผ่าตัดหมอประเมินได้ว่าน่าจะมีการลุกลามไปแล้วในระดับหนึ่งแต่น่าจะยังไม่ถึงกับกระจายออกไปนอกอุ้งเชิงกราน ... ซึ่งถ้าผลชิ้นเนื้อที่รายงานเป็นทางการออกมาเป็นเช่นที่หมอประเมินด้วยประสบการณ์จริง ... ผลการรักษาด้วยการผ่าตัดที่ทำไปก็น่าจะได้ผลดีซึ่งอาจไม่ต้องมีการรักษาเสริมหรืออย่างมากก็อาจเพียงการฉายรังสีเพิ่มเติมหลังผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ... โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแม้จะพบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นโรคที่การพยากรณ์โรคมักจะดีคือมีโอกาสหายขาดสูงเพราะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้นคือมักมาด้วยเรื่อง เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือน ... เมื่อแพทย์ผู้ดูแล ขูดมดลูก (Endometrial curettage) ก็จะพบโรคตั้งแต่ระยะแรกๆซึ่งรักษาอาจทำได้ด้วยการผ่าตัดมดลูกแบบธรรมดาโดยอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lmyph Nodes Dissection) ซึ่งการผ่าตัดแบบหลังนี้เป็นหัตถการที่ซับซ้อนมีความเสี่ยงสูงและต้องทำการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งอาจมีไม่มากนัก

การขูดมดลูก (Uterine Curettage) เพื่อนำเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

ผู้ป่วยทั้งสองรายที่กล่าวมาในเบื้องต้นมาพบแพทย์ค่อนข้างช้าโดยรายแรกรอดูอาการอยู่เกือบปีซึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องการสื่อสารกับทางโรงพยาบาลในระดับชุมชนที่ไม่ชัดเจนนักจึงไม่ได้มารักษาต่อตั้งแต่โรคเพิ่งเริ่มเป็น ส่วนรายที่สองที่มาแบบฉุกเฉินจนต้องเข้า ICU ... ผู้ป่วยรายที่สองเป็นคนที่สนใจตนเองดีระดับหนึ่งเลยละครับแต่ไม่ได้ตรวจภายในเพราะคิดว่าวัยทองแล้วคงไม่เป็นอะไรเลยทำให้อาการที่อาจเป็นแค่เล็กๆน้อยๆที่คิดว่าไม่เป็นอะไรเลยกลายเป็นเรื่องฉุกเฉินซึ่งหมอคิดว่าถ้าตรวจภายในปีละครั้งและขูดมดลูกในกรณีมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกก็คงเจอความผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

เกือบลืมบอกไปเลยครับว่าผู้ป่วยทั้งสองรายมีหลายอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนมาก่อนล่วงหน้าแล้วว่าเสี่ยงกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่ อ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ... ตอนนี้ผู้ป่วยทั้งสองรายกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านแล้วละครับ ... รอนัดมาพบแพทย์เพื่อดูแผลผ่าตัดและประเมินเรื่องการดูแลต่อเนื่องว่าสมควรได้รับการรักษาเสริมด้วยรังสีรักษาหรือที่เรียกว่าการฉายแสงหรือฝังแร่หรือไม่

วันนี้หมอเขียนเรื่องนี้แบบคร่าวๆเหมือนนั่งคุยกันแบบง่ายๆนะครับ ... อาจไม่มีรายละเอียดทางวิชาการนักแต่ก็คิดว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามบล็อกเรื่องผู้หญิงผู้หญิงก็คงจะได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านบ้าง ... ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็ติดต่อมาได้นะครับที่คลินิกนรีเวช โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ หรือโทรศัพท์เข้ามาคุยโดยตรงกับหมอได้ที่ mobile: 089-733-1170

ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและมีความสุขยิ่งๆขึ้นไปนะครับ

รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีเวชวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่