วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559


ตรวจพบว่าติดเชื้อ เอชพีวี (HPV) แลัวจะทำอะไรต่อดี ?






วันนี้แม้หมอจะไม่ค่อยมีเวลามากนักเพราะผ่าตัดเกือบทั้งวัน ... แต่ก็อยากจะเขียนอะไรเล็กๆน้อยๆที่อาจมีประโยชน์ต่อคุณผู้หญิงไว้เป็นความรู้หน่อยนะครับ ...​ เพราะวันนี้เป็นวันสำคัญระดับโลกเลย ... ที่ว่าเป็นวันสำคัญเพราะ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเขายกให้เป็น "วันมะเร็งโลก" ครับ



เรื่องที่จะเขียนเป็นเรื่องที่หมอเพิ่งถูกถามมาทางไลน์วันนี้เองครับว่า ... ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ Human Papilloma Virus) ... ควรจะทำอะไรต่อดี (คุณผู้หญิงที่ถามมาอายุ 32 ปี แต่งงานแล้ว แต่ยังไม่มีบุตร)



ตัวอย่างรูปไวรัสเอชพีวีมีกลุ่มเสี่ยงสูง


เป็นคำถามที่ทันสมัยมากเลยครับเพราะคุณผู้หญิงในยุคปัจจุบันหรือในยุคดิจิตอลนี่รู้จักดูแลตัวเองดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนนี้มากเลยครับ ... รู้ว่า มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นดับแรกๆของผู้หญิง ... เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ... มีระยะก่อนมะเร็ง (Pre-cancerous lesion หรือที่เรียกย่อๆว่า CIN) นำมาก่อนเป็นมะเร็งหลายปี ... การรักษาระยะก่อนมะเร็งทำได้ง่ายและได้ผลดีทำให้ไม่กลายเป็นมะเร็ง ... คำถามอยู่ที่ว่าการตรวจหาระยะก่อนมะเร็ง (CIN) ทำได้อย่างไรเท่านั้นเอง

รูปปากมดลูกระยะก่อนมะเร็ง (CIN)

คำตอบว่าจะตรวจหาระยะก่อนมะเร็งหรือ CIN ได้อย่างไร? ... เป็นคำตอบที่ไม่ยากว่าจะตรวจได้อย่างไรเพราะเป็นการตรวจที่นิยมทำกันอยู่เป็นปกติเป็นประจำปีละครั้งอยู่แล้วก็คือการตรวจที่เรียกว่า Pap smear ซึ่งก็คือการตรวจหาเซลล์ผิดปกติจากปากมดลูก ... แต่การตรวจ Pap smear แบบที่ทำกันอยู่ทั่วๆไปมักมีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติต่ำ ทำให้อาจตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติทั้งๆที่มีระยะก่อนมะเร็งหรือ CIN เกิดขึ้นแล้ว



จากปัญหาเรื่องความไวในการตรวจ Pap smear แบบทั่วๆไปต่ำดังที่ได้กล่าวแล้ว ...​ ร่วมกับความรู้ที่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ... ทำให้ในปัจจุบันมีการตรวจหาไวรัสเอชพีวีพร้อมๆกับการตรวจหาเซลล์ผิดปกติไปเลยหรือที่เรียกว่า Co-testing หรือ Combined testing ... HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ครับแต่ที่นิยมตรวจมีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ เรียกกลุ่มนี้รวมๆกันว่าไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูง (High-risk HPV) ...​ พบว่าการตรวจ Co-testing เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆครบ ... สาเหตุเพราะ ตรวจง่าย มีความไวและความจำเพาะในการตรวจพบความผิดปกติสูง ซึ่งเมื่อมีการตรวจบ่อยขึ้นราคาก็ถูกลงหรือลดลงกว่าเดิมมาก ... หมอเองอยากจะบอกไว้ก่อนนะครับว่าการตรวจ Co-testing แนะนำให้ทำในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เพราะในกลุ่มอายุต่ำกว่านี้อาจตรวจพบการติดเชื้อได้บ่อยแต่ก็มีโอกาสหายด้วยภูมิต้านทานของตัวเองได้ ... ตรวจเจอตั้งแต่อายุน้อยๆเดี๋ยวจะเครียดเกินความจำเป็นครับ


จากที่หมอเล่ามาในเบื้องต้นเลยเป็นที่มาของคำถามที่หมอถูกถามมาทางไลน์วันนี้ครับว่า "ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ... ควรจะทำอะไรต่อดี?

คำตอบที่หมอตอบไปวันนี้สำหรับคุณผู้หญิงที่ไลน์ถามมาก็คือคำตอบสำหรับคุณผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงน่ะครับ ... คำตอบคือมีทางเลือก 2 ทางครับ ... ทางแรกคือรอตรวจ Co-testing ซ้ำอีกครั้งในอีก 1 ปี ... ทางเลือกที่สองคือการส่งตรวจแยกสายพันธุ์ (Genotyping) ของไวรัสเอชพีวีที่ตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ 16 (HPV-16) หรือสายพันธุ์ที่ 18 (HPV-18) หรือไม่ ... วิธีทั้งสองนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทั้งคู่ครับ ... แต่ตัวหมอเองนิยมวิธีที่สองมากกว่าวิธีแรกครับ ... สาเหตุเพราะในกลุ่มไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ (HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66, 68) พบว่า HPV-16 และ HPV-18 เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดและเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 70% ... ทำให้ในกรณีที่ตรวจ Co-testing ที่แม้จะตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่ตรวจพบ HPV-16,18 ก็แนะนำให้ตรวจต่อด้วยการส่องกล้องตรวจปากมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอดหรือที่เรียกว่า "คอลโปสโคป (Colposcope)" ไปเลยครับโดยไม่ควรรอ ... แต่ในกรณีที่ตรวจแยกสายพันธุ์แล้วไม่ใช่ HPV-16,18 ก็สามารถรอตรวจ Co-testing ซ้ำได้ที่ 1 ปีครับเพราะแม้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ก็เสี่ยงน้อยกว่า HPV-16,18 มาก

การส่องกล้องตรวจปากมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอด (Colposcope)


วันนี้หมอขอตอบแค่สั้นๆแค่นี้ก่อนนะครับ ... คำถามที่ถามมาว่า ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วไม่พบเซลล์ผิดปกติแต่พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ควรทำอะไรต่อดี ? ...​ ไม่ว่าจะรอตรวจอีกหนึ่งปีหรือส่งตรวจ Genotyping ว่ามี HPV-16,18 หรือไม่ก็เป็นที่ยอมรับทั้งสองวิธี ... ส่วนคำตอบว่าถ้าเลือกวิธีไหนแล้วผลออกมาเป็นอย่างไรและจะทำอะไรต่อดี ... ก็ถามมาได้นะครับหมอจะตอบเป็นตอนๆไปจะได้อ่านแบบสั้นๆตอนเดียวจบไม่เบื่อซะก่อน

เนื่องในโอกาสวันมะเร็งโรคนี้หมอขออวยพรให้คุณผู้หญิงทุกท่านโชคดี มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากโรคมะเร็งนะครับ



รศ.นพ. วิรัช วุฒิภูมิ
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช
โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่









2 ความคิดเห็น:

  1. ตรวจเจอมา 31 ถามหมอว่าควรทำไงต่อไปหมอบอกทำไรไม่ได้นอกจากตรวจซ้ำ ส่องกล้องก็ไม่เจอ เพราะอยู่ในมดลูก จริงหรือคะ? เครียดไม่อยากรอนาน กลัวมันกลาย ช่วยตอบทีนะคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีค่ะ หนูตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีpapsmearและฟังผลจากทางโทรศัพท์ไม่พบเซลล์มะเร็งแต่พบเชื้อhpvแต่ไม่ใช่สายพันธ์ที่ก่อให้เกิดโรค และคุณหมอแนะนำให้ตรวจซ้ำในอีก1ปีคือ ก.คปี67นี้ค่ะ แต่คุณหมอไม่ได้แจ้งวิธีการดูแลตัวเองหรือสังเกตุอาการใดๆเพิ่มเลยค่ะ หนูควรปฏิบัติตัวอย่างไรคะ อายุ32ปีแต่งงานแล้วมีบุตร1คน และมีภาวะแท้งก่อนมีบุตรมา3ครั้งค่ะ ไปตรวจคัดกรองเพราะมีสาเหตุประจำเดือนมาไม่ปกติ มีตกขาวผิดปกติค่ะ

    ตอบลบ